Money
เงินเฟ้อติดลบ กระทบเราอย่างไร
Post by | Admin

จากการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
การที่อัตราเงินเฟ้อติดลบแบบนี้ แปลว่าอะไร และจะมีผลกระทบต่อชีวิตของเราหรือไม่ วันนี้ KKP Advice Center จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเด็นนี้กัน
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าเงินเฟ้อคืออะไร
เงินเฟ้อคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1) ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) ขณะที่สินค้าและบริการนั้น ๆ อาจมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น
2) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-push Inflation) อาทิ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้ามีราคาสูงขึ้น และผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นตาม
ผลกระทบสำหรับคนทั่วไปคือราคาสินค้าแพงขึ้น เงินมีค่าลดลง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือในอดีตก๋วยเตี๋ยว 1 ชามราคา 30 บาท แต่ในวันนี้ก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมราคาขึ้นไปเป็น 40 บาท จะเห็นว่าเงิน 30 บาทในวันนี้มีค่าน้อยกว่าเงิน 30 บาทในอดีต ก็คือเงินมีค่าลดลงนั่นเอง
มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งไม่ดี แต่จริงๆแล้วการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเพราะจะเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดระดับเงินเฟ้อคือดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) เป็นตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนหรือผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ เป็นราคาในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาในปีที่กำหนดไว้เป็นปีฐาน
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อคือการที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันบางช่วงเวลาดัชนี CPI ก็อาจติดลบได้ ซึ่งในภาวะเงินเฟ้อติดลบนี้ หากเกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานอาจทำให้เกิดภาวะเงินฝืดได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ
ภาวะเงินฝืดสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุเช่นกันกับเงินเฟ้อ คือผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ลดลง และอีกสาเหตุคือต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดต่ำลง
คนทั่วไปอาจมองว่าการที่สินค้าราคาลดลงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่แท้จริงแล้วภาวะเงินฝืดจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย เนื่องจากราคาสินค้าที่ลดต่ำลง หมายถึงรายได้ของผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลงไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าและบริการ จนอาจต้องลดการผลิตไปจนถึงลดการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศ
อย่างไรก็ดีการที่ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อติดลบในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้แปลว่าประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะภาวะเงินฝืดต้องเข้าเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควรและกระจายในหลาย ๆ หมวดสินค้าและบริการ, การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวต่ำกว่าเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น
แม้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามปัจจัยที่กล่าวมานี้ แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะหากภาวะเงินเฟ้อติดลบยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ผู้บริโภคอาจลดหรือชะลอการจับจ่ายลง ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและอาจทำให้เกิดการลดการจ้างงานตามมา ซึ่งจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยทั่วไปได้