Money

วางแผนการศึกษาบุตรฉบับมือโปร

Post by | Admin

วางแผนการศึกษาบุตรฉบับมือโปร_628x443

เปิดเทอมแต่ละครั้ง พ่อแม่ผู้ปกครองมักมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมของบุตรหลาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะปรับตัวขึ้นตามค่าครองชีพ ยิ่งช่วง COVID-19 ด้วยแล้ว หลายคนที่หมุนเงินไม่ทันก็อาจสร้างภาระหนี้สินขึ้นได้ในช่วงนี้ ดังนั้นการเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยการวางแผนการศึกษาบุตร จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เรามาเริ่มจากการแยกรายการค่าใช้จ่ายที่มักเกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอมกันก่อนเลยค่ะ

ค่าเทอม จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสังกัดของโรงเรียนว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน รูปแบบการเรียนการสอน เช่น ระบบธรรมดา 2 ภาษา หรือ 3 ภาษา นอกจากนี้ค่าเทอมยังมีความต่างกันตามระดับชั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะทราบโดยประมาณตั้งแต่ตอนสมัครเรียน

ค่าชุดแต่งกายและอุปกรณ์การเรียน อาจต้องมีหลายชุดและใส่ในหลายวัน และมักต้องปรับเปลี่ยนตามวัยของบุตรหลานเมื่อเติบโตขึ้น อุปกรณ์การเรียนก็เช่นกัน

ค่าใช้จ่ายรายเดือนของบุตร เช่น เงินค่าไปโรงเรียนบุตรหลาน ค่าอาหาร ค่ารถรับส่ง ค่าเรียนพิเศษ 

ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น ค่าอุดหนุนการศึกษา ค่าสนับสนุนชมรมผู้ปกครอง ค่ากิจกรรมพิเศษต่างๆ เป็นต้น รายจ่ายส่วนนี้เป็นส่วนที่เราอาจไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน แม้ไม่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอแต่หากไม่มีการเตรียมการก็อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องได้

เมื่อเราทราบค่าใช้จ่ายโดยประมาณแล้ว เรามาลองคำนวณวางแผนการศึกษาบุตรไปพร้อมๆ กันค่ะ

ตัวอย่าง การวางแผนการศึกษาบุตรตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงปริญญาตรี (ระยะเวลาคำนวณตั้งแต่บุตรคลอดจนจบการศึกษาอยู่ที่ 22 ปี) กำหนดอายุของพ่อแม่ ณ วันที่เริ่มวางแผนอยู่ที่ 35 ปี ซึ่งพ่อแม่จะออมเงินเพื่อนำไปลงทุนเป็นระยะเวลา 10 ปี คาดหวังผลตอบแทนที่ 7% กำหนดระยะเวลาออมเงินเพื่อลงทุนที่10 ปี เนื่องจากเป็นระยะเวลาในวัยทำงานที่สำคัญของพ่อแม่ คือช่วงอายุ 35-45 ปี เป็นช่วงที่เติบโตในการทำงาน ทั้งทางด้านรายได้และความมั่นคง หลังจากนั้นอีก 12 ปี คือตั้งแต่พ่อแม่อายุ 45 ปีเป็นต้นไป จะหยุดการลงทุนเพิ่มและปล่อยให้เงินที่ลงทุนเดิมทำงาน คาดหวังผลตอบแทนที่ 4% ในระยะนี้เราลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนลง เนื่องจากไม่ได้มีการลงทุนเพิ่ม มีการทยอยถอนเงินออกมาใช้ และอายุของพ่อแม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากอายุ 45 ปีเป็นต้นไป พ่อแม่อาจเปลี่ยนเป้าหมายทางการเงินจากการวางแผนการศึกษาบุตร เป็นเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น การวางแผนเกษียณ 

คำนวณอัตราเงินเฟ้อที่ 3% โดยกำหนดค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตรแต่ละชั้นปี มีรายละเอียดดังนี้

EducationPlanning_table01

เมื่อรวมค่าใช้จ่ายการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงปริญญาตรีจะอยู่ที่ 4,900,000 บาท แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ยังไม่คำนวณเงินเฟ้อ ซึ่งหากเราคำนวณเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7,498,135 บาท ดังรายละเอียดตามตารางด้านล่าง

EducationPlanning_table02

จากตาราง จะเห็นว่าในช่วง 10 ปีแรก พ่อแม่จะต้องแบ่งเงินออมออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 

1. ส่วนค่าเทอมแต่ละปีที่รวมเงินเฟ้อ 
เงินส่วนนี้จะถูกจ่ายออกเป็นค่าเทอมรายปีในระหว่างที่บุตรเรียนชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 5 เนื่องจากเราจะเริ่มถอนเงินลงทุนออกมาใช้เป็นก้อนแรกหลังจากเราจ่ายค่าเทอมและออมมาครบ 10 ปีแล้ว ซึ่งเทียบเท่ากับเมื่อบุตรเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (คำนวณแบบต้นงวด เนื่องจากคิดการจ่ายค่าเทอมตั้งแต่ต้นปี) รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,605,628 บาท

2. เงินออมเพื่อการลงทุนระหว่างปี 
เงินส่วนนี้จะจ่ายเพื่อลงทุนการศึกษาบุตรปีละ 307,398 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนปีละ 7% หลังจากนั้นหยุดใส่เงินลงทุนเพิ่ม และปรับพอร์ตการลงทุนเดิมไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำลง ปล่อยให้เงินทำงาน โดยคาดหวังผลตอบแทนปีละ 4% ซึ่งรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,073,974 บาท

จะเห็นได้ว่าจากตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตรตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนจบปริญญาตรีจะอยู่ที่ 7,498,135 บาท (รวมเงินเฟ้อ) แต่หากเราทำการวางแผนการศึกษาบุตร ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่เพียง 4,679,602 บาท (โดยประมาณจาก 1,605,628 + 3,073,974) เนื่องจากมีการลงทุนทำให้เงินเติบโตขึ้น โดยลงทุนเพียงแค่ 10 ปี แต่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตรได้ถึง 19 ปี (อนุบาลจนจบปริญญาตรี) และพ่อแม่คู่นี้ เมื่อหลังอายุ 45 ปี ก็จะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาบุตรอีก จึงสามารถนำเงินออมไปลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ได้

 “ลูก” คือ สิ่งมีค่าที่สุดสำหรับพ่อแม่ หลายคนอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ให้แก่ลูก ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนี้ การเตรียมพร้อมวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาบุตรโดยมองภาพรวมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้คุณสามารถมอบการศึกษาที่ดีที่สุดให้ได้กับบุตรหลานของคุณได้ 


** หมายเหตุ** การวางแผนการศึกษาบุตรข้างต้น เป็นเพียงตัวเลขประมาณการเพื่อให้ทราบแนวคิดเท่านั้น หากต้องการวางแผนการศึกษาบุตรเฉพาะรายบุคคล ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาตให้คำแนะนำการวางแผนทางการเงินเพื่อการศึกษาบุตร

สรุปทิศทางราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันถูกเทขายลงมาที่ ราวๆ 42-43 ดอลลาร์ กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นหลักๆ มาจากตลาดเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ non-OPEC จะทำได้จริงและตรึงกำลังการผลิตได้จริง ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาตรึงกำลังการผลิตออกไปถึงปีหน้าก็ตาม

Suggested
29 May 2020
ทุนประกันชีวิตเท่าไหร่ที่เรียกว่าพอ
Money
25 May 2020
4 วิธีรับมือโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอม
Money
18 May 2020
3 สิ่ง.. การจัดการทางการเงินที่ควรรู้ ช่วงวิกฤต COVID-19
Money