Money
SMEs จะอยู่รอดอย่างไรในยุค New Normal (1)
Post by | Admin

ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ขอนำเสนอประเด็นที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจในยุค New Normal และหนทางที่จะอยู่รอดของ SMEs
คำว่า New Normal นี้ คิดค้นโดย 2 นักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ใช้อธิบายภาวะการลงทุนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและในหลายบริบท อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ขอให้คำจำกัดความโดยง่ายว่า เศรษฐกิจในยุค New Normal มีลักษณะ 4 ประการ คือ หนึ่ง เป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สอง การค้าทั่วโลกที่ขยายตัวน้อยลง สาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ และ สี่ ผลตอบแทนการลงทุนต่ำและมีความผันผวนสูง
ในประเด็นแรก อันได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับต่ำ จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปีในช่วงปี 2500-2510 ลงมาอยู่ในระดับ 3.5% ต่อปีในช่วงปี 2530 และลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 2.5% ต่อปีในปัจจุบัน ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ชะลอลงลงเช่นกัน
สาเหตุที่เศรษฐกิจโตช้าลงเป็นผลจากศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตจะลดลงเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) ทั่วโลก ทำให้กำลังแรงงานลดลง นอกจากนั้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ (Productivity) มากเท่าก่อน ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีในปัจจุบันเช่น สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ไม่ทำให้การผลิตขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเท่ากับเทคโนโลยีสายพานการผลิต (Assembly Line) ที่เริ่มคิดค้นเมื่อกว่าร้อยปีก่อน ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลงเช่นกัน (แต่เทคโนโลยีในระยะหลังที่เรียกว่า Digitalizationได้เริ่มทำให้เกิดการผลิตในรูปแบบใหม่ เช่น Big Data, Cloud Computing และ Fintech ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความถัดไป)
ในประเด็นที่สอง อันได้แก่ การค้าโลกที่ขยายตัวน้อยลงนั้น เป็นทิศทางใหม่ของโลกที่ส่งผลกระทบสู่การส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นว่านับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก (หรือที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ในปี 2551 เป็นต้นมา มูลค่าการค้าโลกขยายตัวชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยกว่า 7.7% ต่อปีในช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เหลือเพียง 3.3% ต่อปีหรือต่ำกว่าในช่วงปัจจุบัน ซึ่งการค้าโลกที่ลดน้อยลงก็เป็นส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไม่ขยายตัวเลย (หรือหดตัวต่ำ ๆ เสียด้วยซ้ำ) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่มูลค่าการค้าโลกขยายตัวลดลงมากในช่วงหลังเป็นเพราะประเทศยักษ์ใหญ่ เช่นสหรัฐอเมริกาและจีนนั้น เริ่มค้าขายน้อยลงและหันมาผลิตและจำหน่ายในประเทศมากขึ้น โดยในสหรัฐนั้น เป็นผลจากต้นทุนด้านการผลิตและการขนส่งที่ถูกลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่จีนเองนั้นก็มีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้นจึงหันไปผลิตสินค้านำเข้าด้วยตนเอง
นอกจากนั้น การเจรจาการค้าในระดับพหุภาคีที่ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะการเจรจาในกรอบองค์กรการค้าโลก (WTO) อันเป็นผลจากการวางหลักการว่า ทุกประเทศจะต้องยอมรับในมติข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ ทำให้การยอมรับข้อตกลงเป็นไปได้ยาก ก็ทำให้การค้าโลกลดน้อยลงเช่นกัน
ประเด็นที่สาม ได้แก่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำนั้น ก็เป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะ New Normal เห็นได้ทั้งจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดต่ำลงจากระดับเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลมาเป็นระดับประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน สอดคล้องไปกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรและสินแร่โลหะอุตสาหกรรม
สาเหตุที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการสินค้าเหล่านี้ลดลงมากหลังจากเศรษฐกิจโลกชะลอลง โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้นำเข้าหลักของโลก ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงก็ส่งผลลูกโซ่กลับมาทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น สินแร่เหล็ก ดีบุก ทองแดง รวมถึงโภคภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เช่น ข้าวและยาง ที่เคยเป็นที่ต้องการมากลดลง นอกจากนั้น การเร่งการผลิตในช่วงก่อนหน้าและกระแสการเก็งกำไรก็ทำให้ปริมาณสินค้าเหล่านี้มีมากเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาตกลงในปัจจุบันเช่นกัน
ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ภาวะผลตอบแทนการลงทุนในระยะต่อไปที่จะต่ำและผันผวน เห็นง่าย ๆ ได้จากการที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร รวมถึงผลตอบแทนการลงทุนต่าง ๆ ที่ลดต่ำลงมาโดยตลอด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะดอกเบี้ยนโยบายที่ทางการทั่วโลกกำหนดนั้นถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น เช่น ผลการทำประชามติของชาวอังกฤษที่จะขอออกจากสหภาพยุโรป (หรือ Brexit) ก็ทำให้ตลาดผันผวนมากขึ้น และทำให้ทางการต่าง ๆ ยิ่งต้องอัดฉีดเงินรวมถึงลดดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้ความผันผวนยิ่งมีมากขึ้นในอนาคต
ทั้งสี่ประเด็นดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยในยุคนี้ขยายตัวต่ำ การค้าน้อย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถูก และผลตอบแทนการลงทุนต่ำและผันผวน ซึ่งนับว่าเป็นสภาวะที่น่าหดหู่เป็นอย่างยิ่ง แต่ในภาวะเช่นนี้ ยังพอมีโอกาสให้กับ SMEs ในการทำธุรกิจได้บ้าง แต่จะเป็นเช่นไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป