Money
เมื่อธนาคารกลางเริ่มแตะเบรก: จาก QE สู่ QT
Post by | Admin

Key Takeaways:
- เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ความจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องเหยียบคันเร่งโดยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและอัดฉีดสภาพคล่องแบบไม่จำกัดเริ่มหมดไป สัญญาณจากเศรษฐกิจที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติและแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และมากกว่าคาดกำลังกดดันให้ธนาคารกลางเริ่มต้องนำนโยบายการเงิน “กลับสู่ภาวะปกติ” โดยการเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเริ่มถอนสภาพคล่องออกจากระบบ โดยลดขนาดของงบดุลลง หรือเรียกว่า Quantitative Tightening (QT)
- KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในการประชุมเดือนมีนาคม และปรับอัตราดอกเบี้ยรวม 1.75% ในปีนี้ และมีโอกาสขึ้นต่อเนื่องอีกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ 1.75-2.0% ในสิ้นปีนี้ และ 2.75-3.0% ในสิ้นปีหน้า
- นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ น่าจะเริ่มลดขนาดของงบดุลในช่วงกลางปี และอาจจะลดงบดุลลงถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในสองปีข้างหน้า ในขณะที่ธนาคารกลางใหญ่อื่นๆ กำลังขยับไปในทิศทางเดียวกัน
- แนวโน้มดอกเบี้ยที่กำลังเป็นขาขึ้น และภาวะสภาพคล่องล้นกำลังจะผ่านไป และกำลังจะมีแนวโน้มลดลง จะเป็นความท้าทายสำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุน สินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากสภาพคล่องล้น เช่น สินทรัพย์ที่พึ่งพากระแสเงินสดในอนาคตยาวๆ สินทรัพย์ที่มี valuation สูง สินทรัพย์ที่คล้ายฟองสบู่ จะมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น
- สำหรับประเทศไทยความท้าทายสำคัญจะมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆในขณะที่กำลังเจอแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ สภาพคล่องที่กำลังลดลง ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาทจะเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ