Money

ชีวิตการเงินดีๆ เริ่มต้นที่ปี 2564

Post by | Admin

ชีวิตการเงินดีๆ-เริ่มต้นที่ปี-2564_628x443

ใกล้สิ้นปีแบบนี้…หลายคนมักเริ่มวางแผนกับสิ่งที่อยากทำในปีใหม่ บางคนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องต่างๆ อยากเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ

บางคนอยากรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น รวมถึงบางคนก็อยากให้สถานะทางการเงินของตนเองดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ และหลายครั้งเรามักมองและตั้งเป้าหมายสิ่งที่อยากทำไปข้างหน้า โดยไม่ค่อยได้สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจริงๆ แล้วการที่เราได้มองย้อนกลับไปในอดีต และนำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาวางแผนร่วมกับเป้าหมายที่ได้วางแผนจะทำในอนาคต  ทั้ง 2 สิ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้แผนในปีหน้าของคุณสำเร็จได้โดยง่าย

เราลองมาชวนคุณ คิดย้อนหลังไปสัก 1-2 เดือน อยากให้คุณลองย้อนนึกถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคุณหลังเงินเดือนออกในแต่ละเดือน ดูว่าถูกใช้ไปกับสิ่งใดบ้าง ตามลำดับก่อนหลัง บางคนใช้เงินเดือนไปกับการชำระหนี้สินที่มี เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือหนี้บัตรเครดิต บางคนกันเงินเดือนออกมาไว้สำหรับรายจ่ายครอบครัว บางคนใช้เงินเดือนไปกับการลงทุนเพื่อเก็บออม

บางคนก็อาจจะไม่เคยวางแผนการใช้จ่าย ใช้แบบเดือนชนเดือนแบบไม่มีเงินเหลือเก็บ หรือบางครั้งก็อาจสร้างหนี้สินก้อนโตขึ้นโดยไม่รู้ตัว เรามาลองดูตัวอย่างการใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือนของคนทำงาน 3 คน ได้แก่ เด็กจบใหม่เงินเดือน 15,000 บาท ผู้จัดการที่มีเงินเดือน 50,000 บาท และผู้บริหารขั้นต้นที่มีเงินเดือน 100,000 บาท

ชีวิตการเงินดีๆ-เริ่มต้นที่ปี-2564_Table

จะเห็นได้ว่า แม้เด็กจบใหม่จะมีเงินเดือน 15,000 บาท แต่กลับเป็นคนเดียวที่มีเงินเหลือต่อเดือน 4,700 บาท ในขณะที่ผู้จัดการและผู้บริหารขั้นต้นซึ่งมีเงินเดือนสูงกว่าแต่กลับมีการใช้จ่ายที่ติดลบในแต่ละเดือน นั่นคือ ติดลบ 18,000 บาท และติดลบ14,000 บาท ตามลำดับ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า รายได้ที่สูง ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่มีหนี้สิน หากคุณใช้จ่ายเงินเกินตัว รายได้น้อยใช่ว่าจะไม่มีเงินเก็บ หากคุณรู้จักใช้จ่าย 

เราเคยลองคิดกันเล่นๆ หรือไม่ว่าในอดีต สมัยที่เรามีรายได้ยังไม่มาก เรากลับใช้จ่ายอย่างเพียงพอ แต่เมื่อรายได้เราสูงขึ้น เรากลับใช้จ่ายไม่พอ พฤติกรรมการใช้จ่ายของเรากลับมากขึ้นกว่าเดิม จนบางครั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เช่น จากเคยกินข้าวข้างทางได้ เมื่อรายได้สูงขึ้น เรามักเลือกรับประทานอาหารร้านหรูหรือตามห้างสรรพสินค้าแทน จากเคยเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะไปทำงาน เมื่อรายได้สูงขึ้น เรามักเลือกซื้อรถยุโรปคันโก้ไว้ใช้เดินทางแทน

นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้ของแบรนด์เนมหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตต่างๆ ที่เรามักปรับเปลี่ยนไปเมื่อรายได้สูงขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ผิดอะไร หากเรามีการวางแผนหรือจัดสรรที่ดี แต่จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าผู้จัดการและผู้บริหารขั้นต้นมีภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่อเดือนซึ่งเป็น Fixed Cost ที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย

สิ่งหนึ่งที่ชวนให้เราคิดต่อไปข้างหน้าคือ ในวัยเกษียณที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว เรามีเงินเก็บออมหรือลงทุนจำนวนเท่าไหร่ เพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังเกษียณหรือไม่ ค่าใช้จ่ายเรื่องค่ารักษาพยาบาล ดูแลสุขภาพหลังเกษียณเรามีการเตรียมเงินส่วนนั้นไว้หรือไม่ มีการทำประกันภัยเพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงไว้เพียงพอหรือยัง หรือในส่วนของหนี้สิน หากเรายังมีภาระที่ต้องผ่อนชำระ ควรรีบเคลียร์ให้หมดก่อนเกษียณ เพราะเราไม่ได้มีรายรับเข้ามา

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม นั่นคือ การวางแผนเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่วงที่ Covid-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะจบลงเมื่อใด และจะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจหรือรายได้ของเรามากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เราทุกคนทำได้คือ การเตรียมความพร้อมทางการเงินของตัวเองด้วยการประหยัดอดออม กันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน หรือการหารายได้เพิ่มเพื่อเป็นทุนสำรองเตรียมไว้ 

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะผ่านเข้าสู่ปีใหม่แล้ว หากคุณอยากเริ่มต้นวางแผนการเงินนับเป็นเรื่องที่ดี การวางแผนแบบมองไปในอดีต ซึ่งอาจเห็นทั้งข้อดีหรือข้อผิดพลาด รวมถึงการวางแผนแบบมองไปข้างหน้าในอนาคตระยะยาว ก็เป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ดี แต่อย่าลืมว่า…ความสุขในชีวิตคนเรา อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เรามีเงินจำนวนมากหรือน้อย แต่อาจขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในจำนวนเงินที่เรามีอยู่…ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นการเงินดีๆ ในปี 2564 นี้ค่ะ

สรุปทิศทางราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันถูกเทขายลงมาที่ ราวๆ 42-43 ดอลลาร์ กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นหลักๆ มาจากตลาดเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ non-OPEC จะทำได้จริงและตรึงกำลังการผลิตได้จริง ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาตรึงกำลังการผลิตออกไปถึงปีหน้าก็ตาม

Suggested
08 Dec 2020
ช้อปแบบจุกๆอย่างไร ให้มีเงินเหลือไว้ใช้ปีหน้า
Money
08 Dec 2020
เลือกกองทุน SSF ยังไง กับโค้งสุดท้ายของการลดหย่อนภาษี
Investment
18 Nov 2020
เช็คลิสต์…ค่าลดหย่อนภาษี
Money