Money
เลือกกองทุน SSF ยังไง กับโค้งสุดท้ายของการลดหย่อนภาษี
Post by | Admin

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเริ่มมองหาการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ช่วงปลายปีแบบนี้ คุณต้องรีบแล้วนะคะ เพราะเหลือเวลาอยู่ไม่มากในการเข้าลงทุนให้ทันสิ้นปี (ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563) เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับปีนี้
สำหรับกองทุน SSF (Super Saving Fund) ที่มาแทน LTF นั้น มีประเภทกองทุนที่หลากหลายกว่า LTF การตัดสินใจเลือกลงทุนจึงมีรายละเอียดที่ต้องศึกษามากกว่าเดิม (ความแตกต่างของ LTF และ SSF คลิก) วันนี้เรามีแนวทางง่ายๆ ในการเลือกกองทุน SSF สำหรับลดหย่อนภาษีมาฝากกัน
คำนวนรายได้ทั้งปีเพื่อดูว่ามีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเท่าไหร่
ก่อนจะเลือกกองทุน เรามีคำแนะนำเบื้องต้นว่าควรเช็ครายได้รวมทั้งปีของคุณก่อนว่าเป็นเท่าไหร่ สำหรับใครที่มีรายได้หลายทางจะต้องนำมารวมให้ครบถ้วน หลังจากนั้นลองประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอะไรบ้างที่สามารถนำมาลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ สุดท้ายเราจะรู้ว่าหากเรายังไม่ลงทุน จะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าไหร่
ตัดสินใจว่าจะลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มจำนวนเท่าไหร่
เมื่อรู้ฐานรายได้ที่จะต้องนำมาเสียภาษีแล้ว ลองพิจารณาดูว่าเราต้องการลงทุนจำนวนเท่าไหร่ และจะสามารถประหยัดภาษีลงได้กี่บาท ทั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้เงินหลังจากนี้ด้วย เพราะการลงทุนใน SSF จะต้องถือครองให้ครบ 10 ปี หากมีแผนการใช้เงินในอนาคต การลงทุนส่วนนี้จะไม่สามารถไถ่ถอนออกมาได้ หรือถ้าต้องไถ่ถอนจริง ๆ จะมีค่าปรับซึ่งคิดเป็นจำนวนไม่น้อยเลย
เลือกประเภทกองทุนที่ต้องการลงทุน
มาถึงขั้นตอนการพิจารณาเลือกการลงทุน สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ซึ่งข้อดีของ SSF คือมีการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น ตลาดเงิน, ตราสารหนี้ , ตราสารทุน, ทองคำ, น้ำมัน และ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น รวมทั้งสามารถลงทุนในตราสารได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายกว่า LTF อย่างมาก
หากเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงต่ำสามารถเลือกลงทุนใน กองทุนตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ ขณะที่ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน หรือ กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector Fund) เป็นต้น
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีการลงทุนอยู่แล้ว ควรพิจารณาพอร์ตการลงทุนเดิมของตัวเองด้วย ว่ามีสินทรัพย์ประเภทใดอยู่บ้าง และน้ำหนักเทไปในสินทรัพย์ใดมากเกินไปหรือไม่ เช่น หากที่ผ่านมามีการซื้อ LTF ไว้เป็นส่วนใหญ่ พอร์ตการลงทุนก็น่าจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยอยู่เยอะ การลงทุน SSF ที่จะเพิ่มเข้ามา ควรช่วยกระจายน้ำหนักการลงทุนให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนในกองทุน SSF มากกว่า 1 กองได้ หากพิจารณาจากพอร์ตการลงทุนที่มีอยู่เดิมแล้วพบว่าควรลงทุนในสินทรัพย์มากกว่า 1 ประเภท
เปรียบเทียบกองทุน
เมื่อได้ประเภทกองทุนที่ต้องการลงทุนแล้ว ลองหารายชื่อกองทุนที่สนใจ ซึ่งเราจะพบว่าหลายกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกัน แต่อาจมีผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันไป ในการเปรียบเทียบแต่ละกองทุนจึงควรพิจารณาหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน เช่น
- นโยบายการลงทุนโดยละเอียด: ถึงแม้ว่ากองทุนจะมีนโยบายการลงทุนในหุ้นเหมือนกัน แต่อาจมีรายละเอียดในการเลือกหุ้นแตกต่างกันได้เช่นอาจเน้นหุ้นขนาดใหญ่ หรือ เน้นหุ้นเติบโต เป็นต้น
- ผลตอบแทนย้อนหลัง: ควรเปรียบเทียบผลตอบแทนในหลายๆ ช่วงเวลา เพื่อให้เห็นข้อมูลภาพรวมให้มากที่สุด รวมทั้งควรเปรียบเทียบกับ Benchmark ด้วย ทั้งนี้กองทุน SSF เพิ่งเกิดขึ้นเป็นปีแรก อาจมีผลตอบแทนย้อนหลังไม่ถึงปี แต่หลายๆ กองมักจะมีกองทุนที่มีนโยบายลงทุนเหมือนกันอยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นกองทุน SSF อาจนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้
- ค่าธรรมเนียม: เป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองข้าม แต่หากกองทุนที่เปรียบเทียบมีผลตอบแทนใกล้เคียงกัน ขณะที่ค่าธรรมเนียมต่างกัน ค่าธรรมเนียมก็อาจเป็นหนึ่งปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกกองทุน
- การป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากบางกองทุนเป็นการลงทุนในต่างประเทศ จะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงต้องศึกษานโยบายการป้องกันความเสี่ยงของกองทุนว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาดูได้จาก Fund Fact Sheet ของกองทุน
เชื่อว่าหลายๆ คนมักจะดูผลตอบแทนย้อนหลังเป็นหลัก แต่ต้องอย่าลืมว่าผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถบ่งบอกผลตอบแทนในอนาคตได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรวิเคราะห์สภาวะตลาดประกอบการพิจารณาลงทุนด้วย