Money
เตรียมเงินอย่างไร ถ้าอีก 9 เดือนคุณจะเป็นแม่..
Post by | Admin

ใกล้ถึงเทศกาลวันแม่ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี หลายคนอาจกำลังเป็นคุณแม่ในอีกไม่กี่เดือน หลายคนอาจกำลังเตรียมตัวเพื่อจะเป็นคุณแม่ แต่คุณทราบหรือไม่ ตั้งแต่เริ่มตั้งท้องจนถึงวันคลอด คุณต้องใช้เงินเท่าไหร่? สำหรับการต้อนรับ “ลูก” ของขวัญที่มีค่าที่สุดสำหรับคุณ เรามาหาคำตอบไปพร้อมกับบทความนี้กันค่ะ
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเตรียม ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมากน้อยแต่ต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะประมาณการและวางแผนค่าใช้จ่ายได้ก่อนการมีบุตร ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในช่วงตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่ค่าฝากครรภ์/ค่ายาบำรุง อยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน ค่าอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ (ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากค่าอาหารปกติ) อยู่ที่ประมาณ 1,000 – 1,500 บาทต่อเดือน ค่าทำคลอด ซึ่งก็จะแตกต่างกันตามโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชน แตกต่างกันระหว่างการคลอดธรรมชาติกับผ่าคลอด และค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอีกหากกรณีเป็นลูกแฝด ซึ่งค่าคลอดโรงพยาบาลรัฐบาลจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 – 30,000 บาท และโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 150,000 บาท แตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรงพยาบาล
2. ค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กแรกเกิด อาจแยกได้เป็นข้าวของที่ซื้อครั้งเดียว เช่น อุปกรณ์ต่างๆ เครื่องนอน รถเข็น เครื่องนึ่งขวดนม ฯลฯ มีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 10,000 – 50,000 บาท และข้าวของที่ต้องซื้อเป็นรายเดือน เช่น ค่านม ค่าอาหาร ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ อาจมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน
3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าพี่เลี้ยงเด็ก หรือค่าสถานรับเลี้ยงเด็ก ฯลฯ อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน
ตัวอย่างการคำนวณ : เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่อาจมีการประมาณการค่าใช้จ่าย 3 ส่วนข้างต้นออกมา เช่น สมมติค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 150,000 บาท แพลนเก็บเงินด้วยกันคนละ 75,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เท่ากับจะต้องออมเงินคนละประมาณ 6,250 บาทต่อเดือน โดยเงินดังกล่าวอาจออมไว้ในแหล่งเงินออมระยะสั้น เช่น เงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เนื่องจากจะมีการใช้เงินเรื่อยๆ ในทุกเดือน เป็นค่าตรวจครรภ์ ค่าบำรุงครรภ์ และจะเป็นการใช้เงินก้อนใหญ่ในช่วงเวลาคลอดบุตรและซื้อของ จากนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนอีกครั้ง เช่น ค่านม ค่าอาหาร หรือค่าพี่เลี้ยง ดังนั้น เงินเก็บก้อนนี้จึงเป็นเงินที่ค่อยๆ ทยอยเก็บได้
แต่หากคุณเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่มีการแพลนค่าใช้จ่ายบุตรล่วงหน้า เช่น แพลนว่าจะมีบุตรในอีก 3 ปีข้างหน้า ประมาณการค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 150,000 บาทเช่นเดิม คุณสามารถนำเงินออมดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนรวมผสมที่คาดหวังผลตอบแทน 5% ต่อปีได้ เนื่องจากยังไม่ต้องรีบใช้เงิน และเงินออมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องออมรายเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 3,870 บาทต่อเดือน หากช่วยกันเก็บคนละครึ่ง จะเหลือการออมเพียงคนละ 1,935 บาทต่อเดือนเท่านั้น
สิทธิประโยชน์ที่คุณแม่ได้รับ แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเตรียมหากวางแผนมีบุตรแล้ว แต่ก็ยังมีตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีมีบุตร มีอะไรบ้างไปติดตามกันเลยค่ะ
1. สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ได้แก่
- สิทธิค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท โดยแบ่งจ่าย 5 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 : อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500 บาท
ครั้งที่ 2 : อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300 บาท
ครั้งที่ 3 : อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300 บาท
ครั้งที่ 4 : อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
ครั้งที่ 5 : อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
(เงื่อนไขการใช้สิทธิ : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนใช้สิทธิ)
- สิทธิค่าคลอดบุตร จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง และไม่จำกัดจำนวนครั้ง (เงื่อนไขการใช้สิทธิ: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนคลอดบุตร)
- สิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร (เฉพาะผู้ประกันตนหญิง) รับเงินสงเคราะห์เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน กรณีบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว (เงื่อนไขการใช้สิทธิ: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนคลอดบุตร)
- สิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน ไม่นับรวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น (เงื่อนไขการใช้สิทธิ: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน)

2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
- ค่าลดหย่อนการฝากครรภ์และทำคลอด สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท สามารถใช้สิทธิมากกว่า 1 ท้องต่อปี แต่หากเป็นการตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับเป็น 1 ท้อง และกรณีค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรเกิดขึ้นคนละปี สามารถใช้สิทธิได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีภาษี สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทต่อปี แต่หากมีลูกคนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดในปีพ.ศ. 2561 หรือหลังจากนี้ สามารถลดหย่อนลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปได้ คนละ 60,000 บาท เกณฑ์อายุบุตรที่จะใช้สิทธิค่าลดหย่อน ต้องเป็นบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุไม่ถึง 20 ปี) หากบรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 – 25 ปี) ต้องยังเรียนอยู่ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีขึ้นไป และจะต้องยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่ถึง 30,000 บาท
หมายเหตุ : หากคุณได้ใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมมาแล้ว 13,000 บาท เพดานสิทธิลดหย่อน จะลดลงจาก 60,000 บาท เหลือ 47,000 บาท (60,000 – 13,000) นั่น คือ หากคุณใช้สิทธิเบิกประกันสังคมยังไม่หมด สามารถมาใช้สิทธิค่าลดหย่อนได้อีกต่อหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า แม้การมีลูก จะมีค่าใช้จ่ายมากมายหลายรายการ จนหลายคนกังวลว่า “การมีลูก” จะเป็นภาระหรือความสุขมากกว่ากัน แต่หากคุณได้มีการวางแผนค่าใช้จ่ายที่ดี มีการเก็บออมเพื่อลงทุนให้เกิดดอกผลงอกเงย และเรียนรู้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการมีบุตร…ลูก จะเป็นสิ่งที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ…สุขสันต์วันแม่ค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.sso.go.th/wpr/main