Money

ลงทุนหุ้นแบบไม่เป็น “เม่า” ไม่ ”ติดดอย”

Post by | Admin

mao-thumbnail

หุ้น หรือ stock เป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือหุ้นจะมีฐานะเป็น “เจ้าของ” ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลเมื่อกิจการมีกำไร และหากกิจการมีผลการดำเนินงานที่ดี ราคาหุ้นเติบโต ก็จะสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคา (capital gain) ได้ นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ (rights offering) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้โดยหลักการ ผู้ลงทุนในหุ้นจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตราบใดที่บริษัทมีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้น หรือหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้น และในระยะยาวการลงทุนในหุ้นมักให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่การลงทุนนั้นจะขาดทุนสูงได้ การลงทุนในหุ้นจึงไม่ได้เหมาะกับทุกคน

 

ผู้ลงทุนคงจะเคยได้ยินคำว่า “เม่า” ซึ่งหมายถึงบุคคลรายย่อยที่ซื้อหุ้นโดยไม่มีความเข้าใจในหุ้นตัวนั้นอย่างแท้จริง ซื้อตามคนอื่น โดยเฉพาะรายย่อยหน้าใหม่จนกลายเป็น “เม่าบินเข้ากองไฟ” คือตามกันไปขาดทุน หรือบางครั้งอยู่ในสถานะ “ติดดอย” คือซื้อหุ้นมาในราคาสูง จนจำเป็นต้องถือหุ้นไว้เพราะไม่อยากขายหุ้นแบบขาดทุน ทั้งนี้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากผลประกอบการของตัวธุรกิจเอง ปัจจัยภายนอกก็มีผลต่อความผันผวนของราคาหุ้นได้มากเช่นกัน การลงทุนในหุ้นต้องศึกษาหาข้อมูลและมีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ไม่กลายเป็น “เม่า” และไม่ “ติดดอย”

 

แนวทางลงทุนในหุ้น

โดยทั่วไป การลงทุนในหุ้นมีด้วยกัน 2 แนวทางหลักคือ top down กับ bottom up

 

หนึ่ง top-down คือการวิเคราะห์โดยมองจากภาพรวมเศรษฐกิจทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมและตัวหุ้น โดยจะพิจารณาว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก การปรับลดดอกเบี้ยอาจกระทบต่อผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารขนาดใหญ่กับธนาคารขนาดเล็ก ภาวะดอกเบี้ยต่ำอาจส่งผลดีต่อบางกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเป็นพิเศษ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วในภาวะดอกเบี้ยต่ำ หุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ในระดับสูงจะมีความน่าสนใจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับขึ้นดีกว่าตลาด

 

สอง bottom-up คือการวิเคราะห์โดยเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นรายบริษัท โดยดูความสามารถในการเติบโตของธุรกิจหนึ่งๆ เช่น พิจารณาจากงบการเงิน ยอดขายที่ผ่านมา ยอดขายที่รอรับรู้รายได้ (backlog) ความเคลื่อนไหวของราคาย้อนหลัง ประวัติการจ่ายเงินปันผล สภาวะการแข่งขันในตลาด ขึ้นไปจนถึงภาวะของตลาดโดยรวม และภาวะเศรษฐกิจว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจนั้นๆ

 

ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน

การศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับการลงทุน โดยแหล่งข้อมูลในการศึกษาเรื่องหุ้นในปัจจุบันมีมากมาย เช่น เว็บไซต์ของบริษัทจดทะเบียน การเข้าร่วมงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมไปถึงบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ที่ผู้ลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นไว้ ซึ่งเว็บไซต์ www.settrade.com ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็มีการรวบรวมบทวิเคราะห์ของหลายแห่งไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ลงทุน

 

ข้อมูลที่ผู้ลงทุนควรศึกษานั้นเป็นข้อมูลพื้นฐานของหุ้นที่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้แก่ ประเภทธุรกิจ สถานะการเงิน งบดุล รายได้ ปัจจัยหลักของรายได้ สภาพคล่องของบริษัท เพราะผู้ลงทุนจะต้องรู้ว่าบริษัทที่ตนเองสนใจจะลงทุนซื้อหุ้นนั้นทำธุรกิจประเภทไหน ผลประกอบการเป็นอย่างไร การเติบโตและแนวโน้มของธุรกิจเป็นอย่างไร

 

สิ่งที่ต้องศึกษาในผลประกอบการคือ การเติบโตของยอดขายหรือรายได้ กำไรสุทธิ อัตรากำไรที่ทำได้ โดยผู้ลงทุนสามารถหาข้อมูลได้จากตลาดหลักทรัพย์ เพราะบริษัทจดทะเบียนต้องนำส่งงบการเงินเป็นรายไตรมาส และต้องนำส่งงบการเงินประจำปีด้วย ผลประกอบการที่ดีถือเป็นเกณฑ์ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถคัดสรรหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นระยะยาวออกมาก่อนในเบื้องต้น ก่อนที่จะศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดต่อไป

 

นอกจากนั้น ผู้ลงทุนควรพิจารณาสถานะการเงินของบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย โดยอาจใช้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt to equity ratio: D/E) เป็นตัวชี้วัดสถานะการเงิน ซึ่งค่า D/E เฉลี่ยของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาจแตกต่างกัน โดยหากเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หากบริษัทใดมีค่า D/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทนั้นก็อาจจะมีความเสี่ยงทางการเงินที่สูงกว่าหุ้นตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน

 

ขณะเดียวกันการศึกษาข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์จะช่วยให้เห็นว่า ปัจจัยใดมีผลต่อรายได้ การทำกำไรเป็นอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้ข้อมูลหาได้ง่าย แต่ต้องทำความเข้าใจและติดตามแนวโน้มของธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพราะตลาดหุ้นมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

เครื่องมือตัดสินใจ

นอกจากศึกษาข้อมูลพื้นฐานแล้ว ผู้ลงทุนต้องรู้จักเครื่องมือที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย ได้แก่ มูลค่าหุ้น (valuation) ค่า P/E และสภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้นด้วย เพราะมีหลายครั้งหุ้นที่เลือกไว้ดูดี แต่ราคาขึ้นไปสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน หรือหุ้นนั้นมีสภาพคล่องที่ต่ำ

 

 

Valuation

 

เมื่อศึกษาข้อมูลบริษัทและคัดสรรหุ้นที่จะลงทุนได้แล้ว ผู้ลงทุนต้องพิจารณามูลค่าหุ้นหรือ valuation เพื่อให้สามารถเลือกซื้อหุ้นที่สนใจในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหุ้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยอาจใช้การเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) เป็นหนึ่งในตัวแปรสำหรับการตัดสินใจ

 

 

ค่า P/E

 

ค่า P/E หรือ อัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น ใช้วัดความถูกหรือแพงของหุ้นเทียบกับกำไรที่ทำได้ เช่น หุ้น A มีราคา 10 บาทต่อหุ้น มีกำไรสุทธิ 2 บาทต่อหุ้น หุ้น A มี P/E เท่ากับ 5 ส่วน หุ้น B ราคา 5 บาทต่อหุ้น มีกำไรสุทธิ 0.5 บาทต่อหุ้น มี P/E เท่ากับ 10 ซึ่งหากดูเฉพาะราคาหุ้นเหมือนว่าหุ้น B ราคาถูกกว่า A แต่เมื่อเปรียบเทียบจาก P/E แล้ว หุ้น A ดูจะมีราคาถูกกว่าหุ้น B เพราะซื้อขายกันที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่ำกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจะดูเฉพาะค่า P/E อย่างเดียวไม่ได้ เช่น หุ้น A มีค่า P/E เท่ากับ 10 หุ้น B มีค่า P/E เท่ากับ 5 ดูเหมือนว่า หุ้น B ราคาถูกกว่า แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตของกำไร หุ้น A ทำกำไรโตได้ 20% แต่ B กำไรอาจจะไม่โตเลย ดังนั้นการที่ค่า P/E ที่ต่ำไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นถูกและน่าลงทุนเสมอไป

 

ผู้ลงทุนควรเปรียบเทียบ P/E หุ้น A ย้อนหลัง เพื่อดูว่าที่ผ่านมามีการซื้อขายในระดับ P/E ที่เท่าไร หรือเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศ หรือในระดับภูมิภาค ว่าหุ้นตัวนั้นมีประสิทธิภาพโดยเทียบเคียงเป็นอย่างไรบ้าง

 

 

สภาพคล่องของหุ้น

 

สภาพคล่องของหุ้นคือ สภาพคล่องของจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาด ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้บริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนต้องมีหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (free float) ไม่ต่ำกว่า 15% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีหุ้นที่ซื้อขายกันในระดับที่ไม่น้อยเกินไป

 

สภาพคล่องของหุ้นดูได้จากปริมาณการซื้อขาย (trading volume) โดยหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงจะซื้อง่ายขายคล่องกว่าหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ การลงทุนในหุ้นแบบรายตัวมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหุ้น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาด หากตลาดปรับตัวลง หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำจะขายออกได้ยาก ทำให้การปรับสถานะลงทุนของผู้ลงทุนเป็นไปได้ยากไปด้วย

 

เลือกหุ้นที่จะลงทุน

การเลือกหุ้นที่จะลงทุนขึ้นอยู่กับความชอบและการตัดสินใจของผู้ลงทุน หุ้นในตลาดมีให้เลือกหลากหลาย ผู้ลงทุนอาจจะเลือกจากขนาดของหุ้น โดยวัดจากมูลค่าตลาด (market capitalization) ซึ่งหมายถึง ราคาคูณด้วยด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทนั้นๆ โดยสามารถแยกได้เป็น large cap, mid cap, small cap ซึ่งก็คือ หุ้นใหญ่ หุ้นกลางและหุ้นเล็กตามลำดับ

 

ผู้ลงทุนยังเลือกหุ้นได้จากลักษณะของหุ้น เช่น หุ้นปันผล หมายถึงหุ้นที่มีผลตอบแทนเงินปันผลในอัตราสูง หรือหุ้นเติบโต หมายถึงหุ้นที่มีการขยายตัวของกิจการ ทั้งการเติบโตของรายได้และกำไร แต่ทั้งนี้ ควรเลือกให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการลงทุน

 

 

หุ้นใหญ่

 

สำหรับผู้ที่สนใจหุ้นใหญ่ อาจจะเลือกจากหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 หรือ ดัชนี SET100 ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดทำขึ้นโดยเน้นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 50 ตัวแรก และ 100 ตัวแรก ตามลำดับ แล้วค่อยมาวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน สถานะการเงิน ประเมิน valuation ของหุ้นที่สนใจตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาข้างต้น หุ้นใหญ่อาจจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจมานานและผ่านวิกฤติเศรษฐกิจการเงินมาแล้ว ซึ่งมักจะบริหารธุรกิจด้วยความระมัดระวัง

 

หุ้นใหญ่มักได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่มีกำลังเงินลงทุนสูงมากกว่าหุ้นเล็ก การลงทุนในหุ้นใหญ่มีข้อดีตรงที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าหุ้นเล็ก เพราะมีบทวิเคราะห์จากหลายโบรกเกอร์ และด้วยขนาดทำให้ความผันผวนน้อย ราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีสภาพคล่องสูง

 

 

หุ้นเล็ก

โดยปกติแล้ว หุ้นขนาดเล็กอาจมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่เนื่องจากมีฐานที่เล็กกว่า แต่ก็อาจมีข้อจำกัดในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินที่แพงกว่า รวมทั้งสภาพคล่องทางการเงินที่น้อยกว่าและอาจได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่สูงกว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลก็อาจมีข้อจำกัดมากกว่า เนื่องจากอาจไม่มีการทำบทวิเคราะห์ในหุ้นเล็กบางบริษัทเลย ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงงบการเงินและผลประกอบการ ซึ่งเป็นข้อมูลในอดีต ดังนั้น ผู้สนใจลงทุนในหุ้นขนาดเล็กจึงควรหาข้อมูลให้มาก

นอกจากนี้ หุ้นเล็กมีสภาพคล่องของหุ้นไม่สูงนัก จำนวนหุ้นที่ซื้อขายน้อย หากมีการไล่ซื้อราคาหุ้นจะเพิ่มสูง แต่กรณีที่มีการเทขาย ราคาหุ้นจะลงแรง หากจะลงทุนควรมีการจัดการความเสี่ยงโดยอาจกำหนดสัดส่วนหุ้นเล็กในพอร์ตไม่ให้มากจนเกินไป

 

 

หุ้นปันผล

 

ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นมีทั้งจากราคาหุ้นและเงินปันผล หากตั้งใจถือยาวเพราะต้องการเงินปันผลอาจพิจารณาเลือกลงทุนในบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูง มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน หรือบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงและสามารถนำกระแสเงินสดมาจ่ายปันผลได้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลดีสม่ำเสมอ บางครั้งอาจไม่ค่อยมีสภาพคล่องในการซื้อขาย เนื่องจากผู้ลงทุนซื้อเก็บรอรับเงินปันผล

 

 

หุ้นเติบโต

 

ผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ควรเลือกหุ้นที่เติบโต มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่องที่เรียกว่า growth stock ซึ่งอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับกำไรจะไม่สูงนัก

 

 

หุ้นที่ไม่ค่อยผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ยังมีหุ้นอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า defensive stock หรือหุ้นที่ไม่ค่อยผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ หมายถึงหุ้นในธุรกิจที่มีการดำเนินงานสม่ำเสมอ มั่นคง ไม่แปรผันไปตามสภาวะตลาดหรือเศรษฐกิจมากนัก โดยอาจเป็นหุ้นที่มีรายได้ต่อเนื่องจากสัญญาธุรกิจระยะยาว หรือหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้นโรงไฟฟ้า ที่มีสัญญาขายไฟระยะยาว หุ้นโรงพยาบาล หุ้นกลุ่มสื่อสาร

 

จัดพอร์ตกระจายเสี่ยง

การลงทุนในหุ้นอาจแบ่งเป็นพอร์ตหลัก (core port) ลงทุนระยะยาวในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี และพอร์ตเพื่อการซื้อขายทำกำไรระยะสั้น (trading) แบบสมเหตุสมผล ตามปัจจัยระยะสั้นที่จะมีผลต่อราคาหุ้น เช่น คาดการณ์ผลประกอบการรายไตรมาส นอกจากนี้ควรยึดหลักกระจายความเสี่ยง ไม่กระจุกการลงทุนในหุ้นจำนวนน้อย แต่ก็ไม่ควรลงทุนเกิน 10 ตัวเพราะอาจไม่อยู่ในวิสัยที่จะติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวได้ถี่ถ้วน

 

ตัดขาดทุน-ทำกำไร

การลงทุนต้องมีการทำการบ้าน ผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามควรทำตัวเป็นนักลงทุนระยะยาว รับความเสี่ยงจากความผันผวนในช่วงสั้นได้ รวมทั้งต้องสามารถตัดสินใจขายออกเพื่อตัดขาดทุนหากราคาหุ้นตกลงต่ำกว่าราคาที่เข้าลงทุน ส่วนกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมากจนเกินปัจจัยพื้นฐาน ควรพิจารณาขายทำกำไรบ้าง และต้องสำรวจผลตอบแทนของพอร์ตเป็นระยะๆ

 

เมื่อผู้ลงทุนรู้จักหุ้น รู้แนวทางการลงทุน เข้าใจเครื่องมือที่จะใช้วิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนแล้ว ก็สามารถเริ่มลงทุนได้เลย แต่พึงตระหนักเสมอว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญควรเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง

แนวโน้มของราคาทอง

มั่นว่า ข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ non-OPEC จะทำได้จริงและตรึงกำลังการผลิตได้จริง ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาตรึงกำลังการผลิตออกไปถึงปีหน้าก็ตาม

 

ไปดูเหตุผลที่ตลาดไม่เชื่อ หนึ่งในนั้นก็เพราะ กำลังการผลิตนอกกลุ่ม OPEC ก็ยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ จากตัวเลขแท่นขุดเจาะรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทบทุกสัปดาห์ตั้งแต่ย่างเข้าไป 2017 เป็นต้นมา รวมถึงการเดินกำลังการผลิต Shale Oil และ Shale Gas ที่สะท้อนว่า ต้นทุนการผลิตของเทคโนโลยีนี้ เข้ามาใกล้จุดที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตน้ำดิบได้แล้วถ้ามองภาพใหญ่กว่านั้น ราคาน้ำมันก็โดนกดดันอยู่มาอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือ Clean Energy โดยเทคโนโลยีที่จะมาเป็นคู่แข่งพลังงานน้ำมันจริงๆ ก็คือ Power Storage หรือ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า นั้นเอง เพราะตัวเก็บประจุไฟฟ้า หรือ Power Storage จะทำให้การใช้พลังงานสะอาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่มีตัวเก็บประจุ ก็แปลว่า เราจะใช้ไฟฟ้าได้แค่ตอนช่วงกลางวันเท่านั้น ดังนั้น เทคโนโลยี Power Storage จึงถือว่ามีความสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งอย่างที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดต่ำลงไปอีก และเข้าถึงคนจำนวนมากกว่าปัจจุบัน

สรุปทิศทางราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันถูกเทขายลงมาที่ ราวๆ 42-43 ดอลลาร์ กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นหลักๆ มาจากตลาดเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ non-OPEC จะทำได้จริงและตรึงกำลังการผลิตได้จริง ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาตรึงกำลังการผลิตออกไปถึงปีหน้าก็ตาม

Suggested
24 Jan 2019
รู้จัก “พอร์ตหุ้น” 4 ประเภทเพื่อการเก็บเงินล้านที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น!!
Investment
24 Jan 2019
ลงทุนกับเราตั้งเป้าได้เป็นล้าน : รู้จักเลือกลงทุน ก็เหลือใช้ตลอดชีวิต
Investment
24 Jan 2019
ลงทุนกับเราตั้งเป้าได้เป็นล้าน : 3 สเต็ปจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคง
Investment