Money
ไอเดีย กะ ปัญญา
Post by | Admin

Snapchat เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2011 เป็น App ใช้แช็ทผ่านรูปภาพ หรือ วีดีโอ โดยจุดแตกต่างของ Snapchat คือ รูปภาพหรือวีดีโอที่ส่งมาแช็ทนั้น หากเปิดดูแล้วจะถูกลบทิ้งภายใน 10 วินาที นอกจากนี้ บนรูปภาพหรือวีดีโอที่ส่งมา คนใช้สามารถวาดการ์ตูนขีดเขียนบรรยายบนภาพนั้นได้
Feature อีกอันที่ได้รับความนิยมมากของ Snapchat คือ Stories เป็นการอัดวีดีโอของคนใช้ที่ต้องการแชร์กับกลุ่มเพื่อน และสามารถเพิ่มวีดีโอเข้าไปในรอบ 1 วันได้ โดยวีดีโอที่บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น จะมีอายุ 24 ชั่วโมง โดยภายใน 24 ชั่วโมงนั้นจะสามารถถูกเปิดดูกี่ครั้งก็ได้ แล้วก็จะถูกลบทิ้งทั้งหมดเมื่อครบกำหนดเวลา 24 ชั่วโมง
Snapchat ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่วัยรุ่น โดยเชื่อกันว่าในปัจจุบันมียอด Active user ประมาณ 100 ล้านคนต่อวัน กลุ่มคนใช้จะค่อนข้างแตกต่างจาก Facebook ที่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับ 1 ของโลก คนใช้ Facebook จะมีอายุมากกว่า ส่วนใหญ่เป็น Gen X ขึ้นไป Snapchat คนที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น Gen Y ด้วยความที่เป็นที่นิยมของกลุ่ม Gen Y ที่เป็นกลุ่มกำลังซื้อใหม่ Facebook ถึงกับเสนอที่จะซื้อ Snapchat ในช่วงปลายปี 2013 ด้วยมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วยเงินสดๆ (ซึ่งน่าจะสูงกว่ารายได้ของบริษัทในปีนั้นเกินกว่า 1,000 เท่า!!!) แต่ผู้ก่อตั้งได้ปฏิเสธไป เพียงเท่านี้ก็น่าจะบอกถึงความนิยมของ Snapchat ได้เป็นอย่างดี
หากถามคนรุ่น Gen X อย่างผมถึง Snapchat ปฏิกิริยาแรกคงไม่หนีไปจากว่า ใครจะไปใช้ แช็ทแล้วไม่สามารถเก็บรูปไว้ได้ ไม่มีบันทึกเก็บไว้ แต่นั่นแหละคือจุดสร้างความแตกต่างของชาวมิลเลนเนียม
ประเด็นคือ คนรุ่น Gen Y เขาไม่ได้ต้องการเก็บอะไรมาก วันนี้ทำอะไร ก็ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ส่งให้เพื่อนดู ให้เพื่อนรู้ว่าตนเองทำอะไรบ้างวันนี้ ไม่ต้องบรรยายอะไรมากมาย เป็นการบอกความเป็นไปที่ง่ายและสะดวกที่สุด เพียงแค่ถ่ายรูป ถ่ายคลิป โหลดลง Snapchat ให้เพื่อนๆ เห็นเท่านั้นพอ พรุ่งนี้ก็แชร์ใหม่ ไม่เห็นต้องเก็บเอาไว้เลย
คนรุ่นผมให้ตายก็ไม่มีทางคิด App ที่มีลักษณะแบบนี้ได้ เพราะมันจบตั้งแต่คอนเซ็ปหลักแล้วว่า App นี้จะไม่มีการบันทึกความทรงจำนะ มันเป็นการบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านแล้วผ่านเลย
ตรงนี้เป็นความขัดแย้งของมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ของคนต่างวัยจริงๆ เพราะคนรุ่นผมนี่ จะเขียนจะส่งต้องคิดแล้วคิดอีก ดังนั้น เมื่อส่งไปแล้วจึงต้องบันทึกได้ หากมีคนเสนอไอเดียนี้ขึ้นมา ถูกฆ่าทิ้งอันดับแรกๆ แน่นอน
จากปรากฏการณ์ Snapchat จึงพอจะสรุปได้ว่า
ด้วยความแตกต่างของวัยและมุมมองต่อสิ่งต่างๆ วันนี้หมดยุคของการที่คนไม่ได้ใช้สินค้าจะคิดให้คนอื่นใช้แล้ว เพราะความแตกต่างมันเยอะเหลือเกิน สินค้าหรือบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ ต้องให้คนรุ่นใหม่เขาเป็นคนคิด คนพัฒนา เพราะเขาเข้าใจพวกกันเอง ไอเดียมาจากกลุ่มอื่น ไม่มีทางรอด
หากชาว Gen X เป็นนายเขา สิ่งที่ต้องทำคือ การให้พื้นที่ ให้โอกาส คนเหล่านี้ ได้ปล่อยของออกมาเต็มที่ เพราะไอเดียของพวกเขาจะใหม่ สด เหมาะกับคนรุ่นเขา บทบาทจึงต้องเปลี่ยนจากการนำ เป็นการสนับสนุน และเติมเต็มเสียมากกว่า
สนับสนุนให้เขาได้เค้นไอเดียออกมาให้สุดยอดที่สุด และเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาด นั่นคือ ความเก๋า ผ่าน “ปัญญา” ที่คนรุ่นเราสั่งสมมาจนมีความช่ำชองทันกับเล่ห์เหลี่ยมในโลกธุรกิจ เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมีบาดแผลเหวอะหวะกันมาหมดแล้ว จนรู้ว่าต้องขับเคลื่อนองค์กรและคนหมู่มากแบบใด จะหลีกเลี่ยงหรือจัดการการเมืองในองค์กรอย่างไรไม่ให้กระทบภาพใหญ่ ตลอดจนรู้จังหวะจะโคนว่าช่วงไหนควรเร่ง ช่วงไหนควรผ่อน เพื่อให้องค์กรไม่ overheat ไปเสียก่อน
หากทั้งสองรุ่นเข้าใจในจุดนี้ และยอมรับที่จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน องค์กรนั้นจะมีพลังมหาศาล
แต่หากกลับกัน คน Gen X คิดว่าตนจะมีไอเดียที่สดกว่า หรือ คน Gen Y คิดว่าตัวเองเก๋าพอที่จะฝ่าด่านอรหันต์ในโลกธุรกิจได้ โดยไม่ใส่ใจกับ “ปัญญา” ของรุ่นพี่เพราะคิดว่ามันจะตกยุคไปเสียหมด จบเห่ทั้งสองกรณีแน่ๆ
“ไอเดีย” สด ต้องคู่กับ “ปัญญา” ที่รู้แจ้ง ถึงจะมีพลัง
ขอบคุณข้อมูลจาก FB Page : Lom Yak