Money
เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อบ้าน
Post by | Admin

ในการซื้อบ้านซักหลัง หลายคนอาจเข้าใจผิดว่ามีแค่ ราคาบ้านที่จะต้องจ่าย ทำให้ไม่ได้เตรียมเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ จนเมื่อจะซื้อบ้านจริงๆ อาจเกิดปัญหาเงินที่มากขึ้นกว่าที่เตรียมไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ KKP Advice Center จึงสรุปค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากราคาบ้าน มาให้ ว่าควรเตรียมเงินไว้เท่าไร เมื่อคิดจะซื้อบ้าน
1.ค่าจอง
ค่าจอง เป็นเงินที่เราจะต้องนำไปให้กับผู้ขายเพื่อเป็นการรับประกันว่าเราต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมนี้จริงๆ โดยจำนวนเงินจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับราคาบ้านในโครงการนั้น หรือแล้วแต่ผู้ขายที่เป็นผู้กำหนดราคา ควรสอบถามโครงการให้ชัดเจนว่า หากยื่นกู้ไม่ผ่านมีการคืนเงินจองหรือไม่
2.ค่าดาวน์
เงินดาวน์จะมีตั้งแต่ 5% – 10% ของราคาบ้าน เช่น หากซื้อบ้านราคา 1,000,000 บาท คุณจะต้องเตรียมเงินเป็นค่าดาวน์ 50,000 – 100,000 บาท
3.ค่าประเมิน
หลังจากเราเลือกบ้านแล้ว หากเราไม่ใช้เงินสดในการซื้อบ้าน ก็ต้องกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งกระบวนการพิจารณาประเมินวงเงินสินเชื่อจะมีค่าใช้จ่ายในการประเมินบ้านที่เราต้องการซื้อ เพื่อนำมาผลประเมิน มาคำนวนวงเงินสินเชื่อให้คุณ โดยมีราคาประมาณ 1,000 – 5,000 บาท หากคุณยื่นขอสินเชื่อหลายธนาคาร คุณก็ต้องจ่ายค่าประเมินราคาให้กับทุกธนาคาร
4.ค่าจดจำนอง เป็นค่าธรรมเนียมที่ผู้ยื่นกู้ซื้อบ้านต้องเสียให้กรมที่ดินในอัตรา 1% ของทุนจำนอง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เช่น ถ้าเราขอกู้ซื้อบ้านเป็นจำนวน 4 ล้านบาท ก็จะต้องเสียค่าจดจำนอง 4 หมื่นบาทนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีค่าอากรแสตมป์ จำนวน 0.50% ของราคาซื้อ-ขายแต่ไม่เกินราคาประเมินทรัพย์สินอีกด้วย
5.ค่าโอนกรรมสิทธิ์
ค่าโอนกรรมสิทธิ์นั้นจะจ่ายให้กับกรมที่ดินเช่นเดียวกับค่าจดจำนอง โดยกรมที่ดินคิดค่าจดทะเบียนสิทธิ 2% จากราคาประเมิน โดยส่วนใหญ่มักจะแบ่งจ่ายคนละครึ่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คือ คนละ 1% ของราคาประเมิน อย่างไรก็ตาม ก่อนทำสัญญาควรตกลงค่าใช้จ่ายส่วนนี้กันให้ดี ๆ ว่าใครจะจ่ายเท่าไหร่จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
6.ค่าเบี้ยประกันภัยบ้าน
เมื่อขอสินเชื่อบ้านแล้ว ส่วนใหญ่จะต้องทำประกันวินาศภัยหรือประกันอัคคีภัยตามกฎหมาย ซึ่งค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับ ประเภทที่อยู่อาศัย ทุนประกัน มูลค่าทรัพย์สิน และระยะเวลาความคุ้มครอง
7.ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า
สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละประเภทโดยขึ้นอยู่กับมาตรวัด ขนาดมิเตอร์ และจำนวนกระแสน้ำ-ไฟที่ปล่อยได้ อาจมีได้ทั้งค่าติดตั้งมิเตอร์ ค่าประกันมิเตอร์ และค่าประกันการใช้น้ำ-ไฟฟ้า
8.ค่าส่วนกลาง
ค่าส่วนกลางสำหรับบริหาร ปรับปรุง และพัฒนาโครงการ เช่น ค่าระบบรักษาความปลอดภัย ค่าบำรุงรักษาสินทรัพย์ในโครงการ ค่าส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนกลางจะขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ โดยเก็บตามขนาดพื้นที่ห้องชุดหรือขนาดของที่ดิน
9.งบเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และงบตกแต่งบ้าน
เป็นค่าใช้จ่ายที่อาจงอกขึ้นมาเรื่อยๆ หากไม่วางแผนก่อน แนะนำว่า ในระหว่างที่คุณกำลังเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ให้คุณประเมินและวางแผนการซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงงบที่จะตกแต่งบ้าน กับราคาบ้านที่ต้องการไว้ด้วย (ปัจจุบันสามารถขอรวมวงเงินกู้ครั้งแรกได้ 10% ของราคาประเมิน)
เมื่อรู้แบบนี้แล้วก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านสักหลัง อย่าลืมเช็กค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยว่ามีอะไรบ้าง ต้องสำรองเงินไว้เท่าไหร่ จะได้ไม่ต้องมามีปัญหาเงินไม่พอ และหากคุณกำลังมองหาสินเชื่อในการซื้อบ้าน ธนาคารเกียรตินาคินขอเสนอสินเชื่อบ้าน KKP Home loan วงเงินอนุมัติสูงสุด 100% ผ่อนสบาย ดอกเบี้ยต่ำ ได้วงเงินสูง สนใจคลิก