Money
วางแผนเป็น หนี้ อย่างคนฉลาด
Post by | Admin

คำว่า “หนี้สิน” คำๆนี้ หากใครเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ก็ต้องรู้มันคือภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้ง ภาระที่สร้างความกังวลในเรื่องการใช้เงินในแต่ละเดือน ซึ่งหนี้สิ้นในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดี หนี้เสีย หนี้เพื่อประกอบอาชีพ หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้แบบไหนก็ตาม ถ้าเรารู้จักวิธีการเป็นหนี้อย่างฉลาดแล้ว เราก็สามารถเป็นหนี้ได้อย่างมีความสุข ซึ่งวันนี้ KKP ADVICE CENTER มีเคล็ดลับในการเป็นหนี้อย่างฉลาดมาฝากกัน
แยกให้ชัด จัดให้ถูก
เริ่มแรกต้องคิดถึงความจำเป็นในการเป็นหนี้ก่อนว่า หนี้ทีเราจะก่อขึ้นนั้น เป็นหนี้แบบใด คุ้มไหมที่จะเป็น โดยหนี้สิ้นนั้น หลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1) หนี้สินดี หรือหนี้ที่ก่อให้เกิดมูลค่าและเป็นประโยชน์หรือสร้างรายได้ ยกตัวอย่างเช่น หนี้เพื่อการลงทุนทำกิจการ หนี้ผ่อนบ้าน ที่อยู่อาศัย หนี้เพื่อการศึกษา เป็นต้น ซึ่งหนี้สินเหล่านี้ถือว่าเป็นหนี้เพื่อการลงทุนและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต
2) หนี้เสีย หรือหนี้ไม่สร้างรายได้ เช่น หนี้ที่เกิดจากการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินตัว และไม่สามารถจัดการควบคุมได้จนส่งผลให้เกิดหนี้สินวนเวียนเป็นวงจร ซึ่งหนี้ส่วนนี้ แนะนำให้มีน้อยที่สุด คำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้ ก่อนที่จะคิดสร้างหนี้ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจจนกว่าจะรู้ศักยภาพในการชำระหนี้ของตัวเอง โดยคำนวณได้ง่าย ๆ จาก ภาระหนี้สินต่อเดือนของคุณ ไม่ควรมากเกินไปกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ ที่คุณได้รับ สัดส่วนนี้ถือเป็นสัดส่วนที่ทำให้คุณเป็นหนี้อย่างมีสุข เพราะยังมีเงินเหลืออีก 2 ส่วนสำหรับการดำรงชีวิตและการเก็บออมต่าง ๆ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณจะได้ใช้เงินออมนี้แก้ปัญหา ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่มให้ลำบากใจลำบากกายในอนาคต
ศึกษาดูรายละเอียดให้รอบคอบ
หากจะกู้สินเชื่อใดๆ ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ โดยละเอียด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามเจ้าหน้าที่ของธนาคาร สถาบันการเงิน ให้ได้รับความกระจ่างชัดเจนที่สุด ก่อนที่จะทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด จากเงื่อนไขต่าง ๆ ในภายหลังนั่นเอง รวมไปถึงต้องเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เอาไว้เป็นอย่างดีด้วย เช่น สลิปบัตรเครดิต บิลเรียกเก็บเงิน เป็นต้น เพื่อใช้ในการตรวจสอบการใช้จ่ายของคุณว่ามีความถูกต้องตรงตามที่ใช้จริง หรือหากมีข้อพิพาทใด ๆ คุณจะได้มีหลักฐานไปใช้แสดงได้
อย่าหวังพึ่งหนี้นอกระบบเด็ดขาด
หนี้นอกระบบ มีความเสี่ยงต่อการถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ทั้งแบบรายวัน และรายเดือน ยอดการผ่อนชำระหมดไปกับการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งยอดเงินต้นที่กู้มา แทบจะไม่ลด หากเราขอผัดผ่อน หรือไม่มีเงินชำระหนี้ตามกำหนด ก็อาจถูกติดตามทวงถามหนี้จนเราได้รับความอับอาย หรือขณะที่บางรายต้องใช้หนี้ด้วยชีวิต ดังนั้น ควรเลือกกู้สินเชื่อกับธนาคาร สถาบันการเงิน หรือ Non-Bank ที่มีการกำกับดูแลอย่างปลอดภัย
คิดให้นานๆ ก่อนเป็นหนี้
1) พิจารณาว่าของที่เรากำลังจะซื้อ เป็นของจำเป็น หรือแค่ความต้องการ และแพงเกินตัวไปไหม เหมาะสมกับเราหรือไม่? ไม่ลำบากจนเกินไปที่จะซื้อหรือเปล่า?
2) คำนวณดูว่าเราลงทุนกับของชิ้นนี้แล้วคุ้มค่าแค่ไหน ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าค่าใช้จ่าย หรือดอกเบี้ยที่เสียไปหรือไม่
3) การชำระหนี้ต้องไม่สูงเกิน ไม่กระทบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และมีเงินเหลือเก็บ
แน่นอนว่า การไม่มีหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากคุณรู้จักวางแผนการเงิน รู้ศักยภาพของตัวเอง รู้จักสร้างหนี้ดีที่ก่อให้เกิดรายได้ รู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้พอดี แค่นี้ก็ทำให้คุณเป็นหนี้ได้อย่างมีความสุข