Lifestyle
เป้าประสงค์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน

หากธุรกิจคุณเป็นเจ้าของสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาด และ หากสินค้าตัวนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกค้าขาดไม่ได้ โดยที่ไม่มีสินค้าอื่นใดทดแทน และ หากคุณค้นพบว่า โอกาสในการทำกำไรมหาศาลรออยู่ตรงหน้า เพียงคุณแค่เพิ่มราคาสินค้า คุณจะทำอย่างไรในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจ...
Daraprim เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำในผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือคนป่วยที่ได้รับการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ กระทั่งป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยสรรพคุณเป็นตัวยาช่วยชีวิตดังกล่าว ทำให้ Daraprim เป็นยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเหล่านั้น และต้องทานยาติดต่อกันทุกวันยาวนานเป็นเดือนเป็นปี
GlaxoSmithKline ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยาเป็นผู้ถือสิทธิบัตรในยาตัวนี้ ยาตัวนี้เคยขายอยู่ที่เม็ดละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งในปี 2010 บริษัท CorePharma ได้ซื้อสิทธิในการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายยาตัวนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกามาจาก GlaxoSmithKline และได้ขึ้นราคาไปที่เม็ดละ 13.50 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ เมื่อปีที่ผ่านมา ยาตัวนี้ได้ถูกปรับราคาขึ้นอีกเป็นเม็ดละ 750 ดอลลาร์สหรัฐ หรือถูกปรับขึ้นถึง 5,000% เพียงชั่วข้ามคืน ภายหลังจากที่บริษัท Turing Pharmaceuticals ได้ซื้อสิทธิในการจัดจำหน่ายยาตัวนี้จากบริษัท CorePharma ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนสูตรยาประการใดเลย เพียงแค่เปลี่ยนมือเจ้าของเท่านั้นเอง
CEO ของบริษัท Turing Pharmaceuticals ชื่อ Martin Shkreli ได้ให้เหตุผลชี้แจงว่า เขามีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท และหน้าที่ของเขาคือทำให้ผลตอบแทนของบริษัทสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เขารู้ว่ายาตัวนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ป่วย เป็นยาช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านั้น เขาเห็นช่องในการทำกำไรมหาศาลจากตรงนี้ เขาเห็นว่าเขาสามารถตั้งราคาเท่าไรก็ได้ตราบใดที่ยังมีคนป่วยที่ต้องการยาตัวนี้อยู่
ดังนั้น การเพิ่มราคาทะลุไป 5,000% จึงเป็นการทำเพื่อเพิ่มผลกำไรให้แก่บริษัท เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นให้สูงที่สุด เขามองว่านั่นคือความรับผิดชอบของเขาต่อผู้ถือหุ้น เป็นวิถีทางของธุรกิจปกติ
ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ราคาสินค้าจะถูกกำหนดโดยปริมาณอุปสงค์ และอุปทาน ถ้าปริมาณอุปสงค์สูงกว่าอุปทานมาก ตลาดนั้นจะเป็นตลาดของผู้ขาย ผู้ขายสามารถตั้งราคาเท่าไรก็ได้ แต่ทฤษฎีนี้ใช้ได้กับสินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีพ หากคุณเป็นเจ้าของแบรนด์จิวเวอรี่ นาฬิกาหรู หรือ รถสปอร์ต และกล้าออกมาขึ้นราคาอุกอาจเช่นนี้ คงไม่มีใครว่าอะไร เพราะไม่ได้มีผลต่อการดำรงชีพของคนในสังคม
แต่กับผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะยาที่ช่วยชีวิตผู้ป่วย การจะตั้งราคาโดยใช้แค่หลักอุปสงค์-อุปทาน เพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะใช่หนทางที่ถูกต้องนัก เพราะธุรกิจนี้มีผลกระทบต่อสาธารณะค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่นาย Martin Shkreli อ้างว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ดูจะเป็นการเข้าใจผิดต่อบทบาทของเขาต่อบริษัท ผู้ถือหุ้น หรือ สังคม อย่างแรง
ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นจึงไม่สามารถตะบี้ตะบันทำกำไร โดยไม่แคร์ถึงผลกระทบต่อสังคม และตัวลูกค้าได้ คุณต้องเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า เป้าประสงค์ของธุรกิจคุณที่นอกเหนือจากตัวเงินนั้นคืออะไร ธุรกิจยาคือ ธุรกิจช่วยชีวิตคน ยิ่งยาของคุณมีประสิทธิภาพมากเท่าไร คุณยิ่งต้องทำให้คนเข้าถึงยาให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นควรจะเป็นเป้าประสงค์ใหญ่ของธุรกิจคุณ
การบรรลุซึ่งเป้าประสงค์ใหญ่ที่ไม่ใช่ตัวเงินต่างหาก จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณบริหารจัดการธุรกิจคุณได้ดีแค่ไหน ธุรกิจคุณมีประโยชน์ต่อสังคมเพียงไร หากทำได้ดี กำไรจะตามมาเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก FB Page : Lom Yak