Money
สร้างกลยุทธ์การตลาด
ด้วยการวาง “Product Life Cycle”
Post by | Admin

การสร้างแบรนด์ด้วยกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้เป็นที่รู้จักและได้มาซึ่งยอดขาย ล้วนเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจ และคงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า “เงินทุน” คือส่วนสำคัญที่จะช่วยธุรกิจขับเคลื่อนและเติบโตต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้งบประมาณให้พอเหมาะและเกิดประโยชน์สูงสุด ก็เปรียบเสมือนการออกหมัดชุดเข้าเป้า ซึ่งนอกจากจะได้คะแนนจากคู่แข่งแล้วคุณยังไม่เจ็บตัวอีกด้วย ยิ่งถ้าธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SME : Small and Medium Enterprise) ล่ะก็ จำเป็นที่จะต้องทำการบ้าน เตรียมตัววาง Business Plan ให้ดี ซึ่งในวันนี้! เรามีเคล็ดลับเสริมหมัดเด็ดให้กับธุรกิจของคุณด้วย Product Life Cycle กันครับ
วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) เปรียบเสมือนการเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนขึ้นชก เพราะวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ คือการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์การตลาดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณอยู่ในสถานการณ์ช่วงไหน เพื่อให้คุณได้เตรียมวางแผนกลยุทธ์ ต่อยอด และรับมือได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ถูกน็อค ซึ่ง Product Life Cycle มีอยู่ 4 ช่วงด้วยกัน ดังนี้
1) ช่วงแนะนำ (Introduction) - สร้างการรับรู้ มุ่งให้เกิดการทดลองใช้
ช่วงแนะนำ เปรียบเสมือนยกแรกของการเข้าสู่สังเวียนการตลาด แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ของเราย่อมไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องทำในช่วงนี้ก็คือต้องสร้างการรับรู้ต่อผลิตภัณฑ์ให้ได้มากที่สุด สามารถทำได้โดยการทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมทางการตลาด หรือการใช้ Blogger Reviewer หรือ Influencer บนโลกออนไลน์ เป็นกระบอกเสียงในการสร้าง Word Of Mouth แนะนำผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ว่าแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ในปัจจุบันนิยมใช้กัน
2) ช่วงเติบโต (Growth) - ส่งเสริมให้เกิดความชื่นชอบในแบรนด์ ขยายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุม
ช่วงเติบโต เป็นยกที่สองซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการทำการตลาดในช่วงแรก ผลิตภัณฑ์ของเราเริ่มเป็นที่รู้จักอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายและกำไรเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นผลให้ดึงคู่แข่งเข้ามาสู่ตลาด ซึ่งกลยุทธ์การตลาดในช่วงนี้คือ การส่งเสริมให้เกิดการชื่นชอบในแบรนด์ เช่น ถ้าเป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods : FMCG) ที่ลูกค้าใช้บริการหรือซื้อสินค้าเป็นประจำ เราอาจเพิ่มกิมมิคหรือฟีเจอร์ใหม่ๆ ในการดึงลูกค้า เช่นการทำ Loyalty Program อาทิ ระบบสมาชิก บัตรสะสมแต้ม เป็นต้น หรือถ้าธุรกิจคุณเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย อาจลองพิจาณาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุม จากเดิมที่จำหน่ายแต่เพียงหน้าร้านหรือสาขา ไปสู่ระบบ Online อย่าง E-commerce เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าได้ดีอีกวิธีหนึ่งในยุคนี้
3) ช่วงอิ่มตัว (Maturity) - เพิ่มความแตกต่าง หลีกหนีคู่แข่งที่พร้อมจะเลียนแบบ
ช่วงอิ่มตัว เป็นยกที่สามส่วนแบ่งการตลาดเริ่มคงที่ ยอดขายอาจจะไม่หวือหวาหรือมีการเพิ่มขึ้นมากนักถ้าเทียบกับช่วงเติบโต แต่หากคุณหยุดพัฒนาและไม่ยอมหากลยุทธ์ใหม่ๆ เข้ามาซับพอร์ตธุรกิจในช่วงนี้ ก็เปรียบเสมือนนักมวยที่เคลื่อนที่แต่ไม่ออกหมัดและก็จะหมดแรงในที่สุด ซึ่งกุญแจสำคัญในการอยู่รอดในช่วงนี้คือการเพิ่มความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การแข่งขันกับคู่แข่งหน้าใหม่และหน้าเก่า ที่จะกรูกันเข้ามาสาวหมัดใส่คุณแบบไม่ยั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อาจจะก๊อปปี้จากคุณ หรือมีสินค้าใหม่ออกมาต่อกร สิ่งที่คุณทำได้ในช่วงนี้ก็คือ 1.ศึกษาวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ เช่น ปรับปรุงรสชาติใหม่ การปรับ Packaging ให้ดูทันสมัยหรือมีลูกเล่นมากขึ้น 2.มุ่งหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดิม โดยอาจจะแตกไลน์สินค้าเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น เดิมที่คุณขายสินค้าให้กับเด็กอย่างเดียว ก็อาจจะหันมาทำสินค้าเพื่อแม่ขึ้นมาบ้าง
4) ช่วงถดถอย (Decline) - ลดค่าใช้จ่าย รักษาลูกค้าหลัก ตัดช่องทางจำหน่ายที่ไม่ทำกำไร
ช่วงถดถอย เรียกได้ว่าเป็นยกสุดท้ายในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ สัญญาณที่จะบ่งบอกได้ก็คือ ยอดขายเริ่มตกลงอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่ต้องทำก็คือ ใช้ข้อมูลทางสถิติเพื่อพิจารณาตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มที่จะแบกไว้ เช่น ปิดสาขาหรือหน้าร้านที่เป็นภาระ ตัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร โดยพิจารณาควบคู่กับภาพรวมของตลาด กรณีตลาดยังเติบโตได้ดี กิจการควรหาสาเหตุที่เกิดขึ้น แต่หากตลาดหดตัวลงเช่นเดียวกันกับยอดขายของเรา กิจการควรพิจารณาถอนตัวโยนผ้าขึ้นเวทีอำลาสังเวียนได้เลย
จะเห็นว่าการทุ่มงบการตลาดในช่วงแนะนำ (Introduction) และช่วงเติบโต (Growth) กิจการต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก หากเจ้าของธุรกิจคนท่านใดกำลังมองหาแหล่งเงินทุน เราพร้อมสนับสนุนคุณขึ้นสู่สังเวียนด้วยสินเชื่อธุรกิจ SME ธนาคารเกียรตินาคินภัทร