Money
SMEs จะอยู่รอดอย่างไรในยุค New Normal (3)
Post by | Admin

ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจในยุค New Normal ที่เติบโตช้า ซึมยาว และผันผวนมากขึ้นนั้น จะเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในทางออกสำคัญของ SMEs ก็คือการจับกระแส Megatrend 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ สังคมดิจิตัล สังคมชนชั้นกลาง และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดย SMEs ไทยก็คงหนีไม่พ้นทางออกเหล่านั้นเช่นกัน แต่ภายใต้ทางออกเหล่านั้น ดูเหมือนว่ามีทั้งโอกาสและอุปสรรคในตัวของมันเอง
ขอเริ่มจากทางออกแรก คือ “การจับไปกับกระแสผู้สูงอายุ” ซึ่งหลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญภาวะสังคมผู้สูงอายุ เช่น ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ รวมถึงไทย โดยธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2558 ไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี อยู่ที่ 11 ล้านคน (สัดส่วน 16% ต่อประชากรทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคน (สัดส่วน 11% ต่อประชากรทั้งหมด) ในปี 2548 และคาดว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศ
จากข้อมูลสถิติข้างต้น เห็นได้ว่าตลาดผู้สูงอายุจะทวีความสำคัญมากขึ้นในระยะข้างหน้า การที่ผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าและบริการที่สอดรับกับความต้องการของผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่อาจควรคำนึงถึงก่อนที่จะกระโจนลงไปในตลาดกลุ่มนี้ ได้แก่
หนึ่ง “ตลาดผู้สูงอายุไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการผลิตสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ แต่คือการผลิตสินค้า/บริการที่เข้ากับ Lifestyles ของผู้สูงอายุ” ดังนั้น การเข้าจับกลุ่มผู้สูงอายุ จึงมิใช่การเลือกเข้าสู่การผลิตสินค้า/การให้บริการด้านสุขภาพเท่านั้น เช่น ยารักษาโรค สถานพยาบาล และอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น แต่เป็นการปรับรูปแบบสินค้าและบริการเดิมๆ ที่ SMEs ผลิตอยู่แล้วให้เหมาะสมแก่ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์และของใช้ในบ้าน: ประตูผลักออกจากตัวทั้งขาเข้า-ออกสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ Wheel chair เครื่องนุ่งห่ม: ใช้เส้นใยยืดหยุ่นสูงสะดวกต่อการสวมใส่ของผู้สูงอายุ บ้านจัดสรร: สาขาขนาดย่อมของสถานพยาบาลภายในหมู่บ้าน ระบบความปลอดภัยสูงแม้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว บริการทางการเงิน: สินเชื่อเพื่อการดำรงชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่มีสินทรัพย์ เทคโนโลยีการสื่อสาร: สายรัดข้อมือที่มี Application สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้นว่าเตือนการทานยา และของเล่นฝึกสมองเพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อม ซึ่งอาจจะต้องมีสีและรูปแบบที่แตกต่างจากของเล่นเด็ก เป็นต้น
สอง “การเข้าใจในพฤติกรรมและสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการผลิต การประชาสัมพันธ์ และการจัดจำหน่ายสินค้า/บริการของ SMEs ทั้งนี้ อ้างอิงจากการสำรวจประชากรสูงอายุในไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำปี 2557 มีประเด็นที่น่าสนใจในกลุ่มผู้สูงอายุของไทย ได้แก่ 1) ผู้สูงอายุของไทยมิใช่กลุ่มที่มีกำลังซื้อที่สูงเหมือนกับผู้สูงอายุในต่างประเทศ (ผู้สูงอายุไทยประมาณ 6.6 ล้านคน หรือมากกว่า 60% ของผู้สูงอายุทั้งหมด มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 25,000 บาท/เดือนมีไม่ถึง 5 แสนคน) โดยพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานและการทำงานของตัวเองเป็นสำคัญ 2) ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี และ 3) การรับข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุมาจากการบอกเล่าของญาติ/เพื่อน/ผู้นำชุมชน โทรทัศน์ และหอกระจายข่าว (โดยเฉพาะในต่างจังหวัด) เป็นสำคัญ ขณะที่ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการรับข่าวสารจาก Internet (แต่อาจมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุที่อยู่ชุมชุนเมือง เช่น กรุงเทพฯ)
หากพิจารณาจากการสำรวจข้างต้น รูปแบบการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของ SMEs อาจมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกหลานเพื่อให้เลือกซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้สูงอายุที่อยู่ภายใต้การดูแลของตนเอง ซึ่งอาจใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการสื่อสารดิจิตัลมีแนวโน้มมากขึ้น ถึงแม้ว่าตัวผู้สูงอายุเองจะมีสัดส่วนการรับข้อมูลข่าวสารผ่าน Internet น้อยก็ตาม ขณะที่ระดับราคาสินค้าอาจต้องอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลเพื่อสอดรับกับรายได้ของผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่ของประเทศ (เว้นแต่การทำตลาดเฉพาะเพื่อขายให้แก่ผู้สูงอายุระดับบน หรือผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับรายได้สูง)
สาม “ตลาดผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโตสวนเศรษฐกิจ แต่การแข่งขันก็สูงเช่นกัน” ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้ SMEs ลืมคำนึงถึง เนื่องจากในภาวะที่หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจกำลังเติบโตต่ำ ตลาดที่ยังมีศักยภาพจึงมีจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และ SMEs ต้องเข้ามาแก่งแย่งลูกค้ากัน ซึ่งแน่นอนว่า SMEs มีพละกำลังและสายป่านที่จำกัดเมื่อเทียบกับธุรกิขนาดใหญ่อาจเสียเปรียบ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการของตนเอง เช่น การผลิตสินค้า/บริการที่มีความเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุแต่ละรายหรือแต่ละกลุ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่อาจทำได้ยาก เนื่องจากเป็นการผลิตในลักษณะ Mass production การบริการหลังการขายหรือการให้บริการที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่น ซึ่ง SMEs อาจควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจพอทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เห็นแนวทางที่จะประยุกต์ใช้กับสินค้าและบริการของตนเอง รวมถึงความท้าทายจากการแข่งขันที่ต้องเผชิญ ทั้งนี้ สำหรับทางออกที่เกาะกระแส Megatrend อีก 3 ด้านสำคัญที่เหลือ ขอยกยอดไว้ในบทความถัดไป