Money
วางแผนให้ดี มีเงินเป็นล้าน
Post by | Admin

"การวางแผนทางการเงิน" อาจฟังดูเป็นเรื่องยุ่งยากหรือไกลตัวของหลายคน แต่ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่า "ล้านแรก" คือสิ่งที่เราต้องการจะไปถึง การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ขอเสนอกรอบในการวางแผนทางการเงินสักหน่อยอย่างน้อยก็เป็นแนวคิดตีโจทย์ให้แตกว่าจุดอ่อนของแผนทางการเงินของเราอยู่ตรงไหน และควรจะเร่งปรับปรุงซ่อมสร้างอะไรให้ "ล้านแรก" ไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อมอีกต่อไป
เปรียบเทียบ "เงิน" ของเราเหมือนน้ำที่สะสมไว้เพื่อใช้ในอนาคต รายได้แต่ละเดือนเหมือนน้ำไหลลงมาในบ่อ ส่วนค่าใช้จ่ายประจำที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็เหมือนน้ำที่เราเสียไป (เหมือนรอยรั่วในบ่อ)
การวางแผนจัดการทางการเงินก็เหมือนกับการจัดระเบียบ การสร้างบ่อน้ำ และบริหารจัดการการไหลของน้ำให้เหมาะสมกับตัวเรา และเป้าหมายทางการเงินของเรา
สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำ คือ จัดการรายได้และรายจ่าย คือต้องทำให้มีเงินเหลือใช้ทุกเดือนก่อน ถ้าแต่ละเดือนไม่มีเงินเหลือเลย ก็คงวางแผนทางการเงินลำบากทีเดียว คนส่วนใหญ่คงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการจัดการรายได้ เพราะน่าจะมาเป็นประจำทุกเดือน แต่รายจ่ายนี่สิ หลายคนยังไม่รู้เลยว่าในแต่ละเดือนเราใช้เงินไปเท่าไร ตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าเราพอรู้ว่าในแต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ก็จะทำให้วางแผนได้ว่าจะสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนลงได้บ้าง หรือถ้าจะให้ดี ทำเป็นงบประมาณให้ตัวเองเลยก็ยิ่งดีว่าอยากเก็บเงินเท่าไร ในแต่ละสัปดาห์ควรใช้เงินเท่าไร ถ้าสัปดาห์ไหนใช้เกิน สัปดาห์ต่อไปก็รัดเข็มขัดให้เข้าเป้าประจำเดือนให้ได้
ถ้าตัดรายจ่ายอย่างไรก็เอาไม่อยู่ คงต้องไปบริหารด้านรายได้ว่าเราจำเป็นต้องหารายได้เสริมหรือไม่
ถ้าใครมีเงินเหลือเก็บแล้ว แนะนำให้แบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ เหมือนสร้างบ่อน้ำอย่างน้อยสักสองบ่อ บ่อแรก คือบ่อชีวิตประจำวัน เก็บเงินไว้ในบ่อนี้ประมาณเท่ากับเงินที่เราใช้ในแต่ละเดือน บ่อนี้ควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง แต่ก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนได้ เช่น การลงทุนในกองทุนตลาดเงินที่มีข้อจำกัดคือต้องสั่งถอนหนึ่งวันก่อนใช้เงิน แต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงกว่าออมทรัพย์สองสามเท่า
เงินเหลือเท่าไรให้โยนไปไว้บ่อสอง บ่อนี้คือบ่อลงทุน เป็นเงินที่สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจจะมีสภาพคล่องน้อยกว่านิด หรือมีความผันผวนได้มากขึ้นอีกหน่อย บ่อนี้น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนคือเพิ่มน้ำได้เร็วขึ้นในระยะยาว ถ้าใครวางแผนชีวิตได้ดี รู้ว่าจะต้องใช้เงินเมื่อไรแน่ๆ จะสามารถสร้างบ่อย่อยในบ่อที่สอง เช่น บ่อที่อาจจะต้องใช้ในหนึ่งปี หรืออีกบ่อเก็บไว้แต่งงานอีกสามปี หรือเก็บไว้ยามเกษียณ ก็จะสามารถวางแผนการลงทุนได้เหมาะสมขึ้นอีก
การคิดแบบนี้ จะทำให้เราสามารถนำเงินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ไม่กองไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำเพียงอย่างเดียว และน่าจะทำให้พอมองออกว่าปัจจัยสำหรับล้านแรกของเรามีอยู่สามอันใหญ่ๆ เท่านั้น คือ 1. รายได้ 2. รายจ่าย 3. ผลตอบแทนที่ได้จากน้ำทั้งสองบ่อ
เมื่อกรอบชัดขึ้น เราก็ไปวางแผนกำจัดจุดอ่อนกันได้แล้ว ว่าต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย หรือบริหารจัดการวงจรเงินเข้าเงินออกเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเงินลงทุนได้เต็มที่ขึ้น เพื่อให้สามารถก้าวสู่ "เงินล้าน" อย่างที่ตั้งใจไว้ได้
บทความโดย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร จำกัด (มหาชน)