สไตล์ของนักลงทุนในตลาดทุนนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ value, growth และ blend investing style ซึ่งในแต่ละสไตล์ นอกจากจะมีการเลือกหุ้นที่แตกต่าง กันแล้ว ยังให้ความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
1. Value Investing
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เป็นการลงทุนในหุ้นที่นักลงทุนเชื่อว่ามีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน (Undervalued Stock) ด้วยการประเมินราคาหุ้นก่อนตัดสินใจซื้อขาย จากการวิเคราะห์มูลค่าทางบัญชี หรืออัตราส่วนทางการเงิน โดยคาดหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปสู่ระดับที่ควรจะเป็น และผลตอบแทนจากเงินปันผล เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาว ต้องการได้รับผลตอบแทนทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend)
2. Growth Investing
การลงทุนเน้นหุ้นเติบโต ซึ่งมักเป็นหุ้นเกิดใหม่และเป็นกิจการที่มีรายได้เติบโตไวกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่จะที่มีค่า PE สูง หุ้นกลุ่มนี้มักจะไม่จ่ายปันผลหรือมีอัตราการจ่ายปันผลต่ำ เพราะต้องคงเงินไว้ใช้ในกิจการเพื่อสร้างการเติบโตในปีต่อๆ ไป เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ และไม่เน้นรายได้จากเงินปันผล แต่คาดหวังผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain)
3. Market Capitalization
แนวทางการลงทุนที่เลือกหุ้นที่จะลงทุนจากขนาดของบริษัท (ราคาหุ้น x จำนวนหุ้น) แบ่งหุ้นออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ หุ้นขนาดเล็ก (Small Cap), หุ้นขนาดกลาง (Mid Cap), หุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) โดยหุ้นของบริษัทขนาดเล็กมักจะมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่นกัน ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่มักเป็นของบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานกว่าจึงมีความมั่นคง ผู้ที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จึงมักคาดหวังการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และมีการจ่ายเงินปันผล
4. Active Investing
สไตล์การลงทุนที่ใช้การจับจังหวะเวลาซื้อขายที่เหมาะสม เน้นทำกำไรมากกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด เนื่องจากเป็นสไตล์การลงทุนที่มีการซื้อขายบ่อยครั้งทำให้มีค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูง เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ มีเวลาติดตามสถานการณ์ตลาด เน้นลงทุนในช่วงสั้นๆ ไม่เน้นลงทุนระยะยาว
5. Passive Investing
การลงทุนที่เน้นสร้างพอร์ตให้มีสัดส่วนหุ้นแต่ละตัว้ใกล้เคียงกับตลาด เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ได้เทียบเท่ากับตลาด เป็นการลงทุนที่มีการกระจายการลงทุน และมีการซื้อขายี่ไม่ถี่เหมือนแบบ Active จึง้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง และไม่ต้องการนั่งติดตามตลาดตลอดเวลา
6. Buy and Hold
สไตล์การลงทุนที่เน้นการซื้อหุ้นเพื่อถือยาว ไม่ซื้อขายบ่อยๆ โดยซื้อขณะที่ราคายังต่ำอยู่ และถือไปในระยะยาว นับเป็นสไตล์การลงทุนแบบ Passive รูปแบบหนึ่ง
7. Indexing
การลงทุนตามดัชนี เป็นอีกหนึ่งสไตล์การลงทุนแบบ Passive ที่สร้างพอร์ตการลงทุน่จำลองมาจากดัชนีอ้างอิง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง เป็นการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง ทำได้ง่าย และมีต้นทุนต่ำ เนื่องจากดัชนีมักมีการเปลี่ยนแปลงไม่ถี่มาก ซึ่งสไตล์นี้สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีอ้างอิง
8. Dividend Growth
การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยมองถึงอัตราการเติบโตของการจ่ายปันผลร่วมด้วย เป็นสไตล์การลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณหรือวัยใกล้เกษียณ เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลช่วยสร้างรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทดแทนรายได้ที่หายไปจากการหยุดทำงานได้อีกทางหนึ่ง
จากสไตล์การลงทุนที่มีหลายรูปแบบ นักลงทุนคนหนึ่งก็อาจเลือกได้มากกว่า 1 สไตล์ เพื่อปรับใช้ตามเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจใช้การลงทุนสำหรับส่วนที่เป็นการลงทุนระยะยาวด้วยสไตล์ Indexing เพื่อรับผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง แต่ส่วนที่เป็นการลงทุนระยะสั้นที่ต้องการได้รับกำไรมากกว่าตลาดก็ปรับใช้สไตล์การลงทุนแบบ Active Investing เป็นต้น และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษารูปแบบผลตอบแทน เงื่อนไข และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง