Money
ธุรกิจธนาคารกับการปรับตัวเข้าสู่ Social Banking Platform
Post by | Admin

“ธุรกิจธนาคารกับการปรับตัวเข้าสู่ social banking platform”
”Banking is necessary, traditional banks are not” Bill Gates
ในยุคที่การปรับตัวเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และคนที่อยู่รอดคือคนที่ปรับตัวกับทุกเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต่างจากธุรกิจของธนาคารที่ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาศัยความสะดวกสบายในการตัดสินใจกับทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ในยุคที่การเปิดสาขาของธนาคารถือเป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง ผ่านมาในเวลาไม่ถึง 10 ปี กลับกลายเป็นว่าการปิดสาขาเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจธนาคารให้ความสำคัญแทน และในตอนนี้รูปแบบบริการของธนาคารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที การทำธุรกรรมทางการเงินที่สาขาธนาคารจึงถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Mobile Banking เพื่อตอบสนองความสะดวกของผู้บริโภค ให้เข้าถึงการทำธุรกรรมการเงินได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา แต่แม้ว่า Mobile Banking จะเป็นเครื่องมือที่ให้ความสะดวกต่อผู้บริโภค ก็ไม่สามารถที่จะปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดการพัฒนาและรู้ทันความต้องการของผู้บริโภคได้ตลอดไป
มีข้อมูลเป็นตัวเลขว่า ต่อหนึ่งการทำธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ ที่ต้องเชื่อมต่อกับ Mobile Banking ต้องใช้จำนวนการเข้า-ออก application ถึง 7 ครั้ง ทำให้ในวงการการเงินพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาปิดช่องว่างโดยร่วมมือกับบริษัทที่ทำธุรกิจ Messenger Application และธุรกิจ E-Commerce ยักษ์ใหญ่ต่างๆ ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินครบจบในแอปเดียว ทดแทน Mobile Banking รูปแบบเดิม และแน่นอนว่าในยุคนี้ ใครก็ตามที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและเหนือความคาดหวังที่สุด คือ ผู้ชนะในเกมธุรกิจอย่างแท้จริง “Social Banking” ถือเป็นก้าวใหญ่ ที่ถูกพูดถึงและเป็นประเด็นที่ทำให้ธุรกิจธนาคารผวาและต้องปรับตัวอีกครั้ง
ครั้งหนึ่งแวดวงสื่อโฆษณาได้ปรับตัวไปแล้วต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ต้องปิดตัวลงในระยะเวลาไม่กี่ปี และเป็นที่มาของ Social Media ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเวลานี้ จึงเห็นได้ชัดว่าธุรกิจที่อยู่รอดคือการปรับตัวสู่ Digital Platform อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Social Banking ก็เช่นกัน การเป็น Platform สำหรับวงการการเงินที่เชื่อมต่อผู้ให้บริการกับลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมได้ใกล้ชิดและสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยฟีเจอร์การให้บริการที่พัฒนาขึ้นเพื่อลูกค้าทุกกลุ่ม ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน คือ ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน สามารถโอนเงินให้กันผ่าน Application “we chat” ได้แบบ Real Time โดยร่นระยะการโอนเงินบน Mobile Banking ไปเลย หรือแม้แต่สองปีที่ผ่านมา กับความฮือฮาเรื่องสกุลเงินดิจิทัล ที่หากประกาศใช้จากธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ นับว่ามีคุณสมบัติของเงินที่ครบถ้วนเพราะมีมูลค่าแน่นอนใช้แทนสกุลเงินท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพการปรับตัวของทั้งผู้ให้บริการ และผู้บริโภคที่ทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ง่ายดาย และ มีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทย การจับมือกันระหว่าง ธนาคาร บริษัท E-commerce และ Messenger Application ยักษ์ใหญ่ต่างๆ จึงเป็นหนทางที่ทำให้ธนาคารเลือกเพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และสะท้อนว่าธุรกิจธนาคารจะไม่ยอมเสียพื้นที่ทางการตลาดไปอย่างง่ายๆ และนี่คือตัวอย่างของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้ทันเวลา เพื่อยึดครองตำแหน่งผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
ไม่ใช่แค่ธุรกิจธนาคารที่ได้รับผลกระทบนี้ เรากำลังพูดถึงระบบ Infrastructure ของประเทศ รวมถึงระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะทุกอุตสาหกรรมล้วนแล้วแต่ตอบสนองลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และ บริการที่ประทับใจทั้งนั้น การที่ธุรกิจยึดติดกับสิ่งที่เชื่อว่าทำมานานและได้ผลดีมาตลอด ยังใช้ได้กับลูกค้าที่มี Loyalty นั้น และไม่คิดจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเลย เชื่อได้เลยว่าพลังของเทคโนโลยีที่มีแต่จะพัฒนาขึ้นไปแบบก้าวกระโดดจะเข้ามา Disrupt ธุรกิจเหล่านี้อย่างแน่นอน การเตรียมความพร้อม เปิดใจ ปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอคือ Mindset ที่เจ้าของธุรกิจ และคนทำงานทุกคนควรทำความเข้าใจเป็นที่สุดในยุคนี้ ในขณะเดียวกัน เรื่องของนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ใช้เวลาในการพัฒนาก่อนจะถูกนำมาใช้กับผู้บริโภคในตลาด ดังนั้นธุรกิจธนาคารนับเป็นสิ่งที่น่าจับตามองกันต่อไปว่า จะถูกพัฒนาไปอยู่ในทิศทางใดเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตัวจริงมากที่สุด