Money
แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2563
Post by | Admin

จากการคาดการณ์ธนาคารมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปี 2563 นั้น GDP น่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 1.4% (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563) ส่วนภาพรวมการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวลงในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ซื้อภายในประเทศ และแม้ว่าลูกค้าหลักของอสังหาริมทรัพย์มาจาก 2 ส่วน คือผู้ซื้อคนไทยในประเทศกับชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เป็น คนจีน ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade war) รวมถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า และไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ทำให้อุปสงค์การเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์จากต่างชาตินั้นชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามยังจะมีการเกิดขึ้นใหม่ของอสังหาริมทรัพย์อยู่บ้างขึ้นอยู่กับรูปแบบของผลิตภัณฑ์และทำเลที่มีศักยภาพในบางพื้นที่
ดังนั้นสำหรับปีหน้า KKP มองว่าเป็นปีที่ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นของโครงการใหม่มากเหมือนช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ แต่อยู่ในภาวะการระบายสต๊อคสินค้าที่มีอยู่ เพราะมีนโยบายภาครัฐออกมาเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้อในการตัดสินใจซื้อ/โอนได้ดีขึ้น อาทิ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% ของราคาซื้อขาย (จากเดิมค่าธรรมเนียมการโอน 2% และค่าจดจำนอง 1%) และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ถึง ธ.ค. 2563 ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของธนาคารต่างๆ และรวมถึงการประกาศปลดล็อคมาตรการ LTV เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมานั้นช่วยให้ประชาชนผู้ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย ด้วยการให้ผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถกู้ได้ 100%และยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าบ้าน เพื่อใช้ในการตกแต่ง ซ่อมแซม หรือต่อเติม กรณีต้องการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้วางดาวน์น้อยลงจาก 20% เป็น 10% ของราคาบ้าน
สำหรับการคาดการณ์ผลกระทบต่อสภาพคล่องของ Developer ในด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างแนวราบกับแนวสูงนั้น ผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการแนวราบจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวน้อยกว่าเพราะรูปแบบของการพัฒนาโครงการเป็นการสร้างเป็น phase ทยอยทำทยอยขายซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการแนวสูงที่ต้องสร้างเสร็จทั้งหมดในคราวเดียว โดยช่วงราคาที่มองว่ายังเป็นราคาที่ตลาดยังให้ความสนใจสำหรับในเมืองอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาท โซนรอบนอกอยู่ที่ 2-3 ล้านบาท ตลาดทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคา 2-4 ล้านบาทเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็น Segment ที่ยังมีความต้องการสูง เป็นสินค้าทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อในระดับราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้คอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้ายังคงเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจและยังมีอัตราการขายค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายสีเขียวเข้ม-หมอชิต สุขุมวิท , สายสีเขียว-สีลม สาทร , สายสีน้ำเงิน-รัชดาภิเษก ลาดพร้าว , รถไฟฟ้าใหม่สายสีเหลือง ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์ เป็นต้น
เป้าหมายการทำธุรกิจของ KKP ในปี 2563 ประมาณการยอดสินเชื่อคงค้างที่สนับสนุนให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ 32,400 ล้านบาท(คิดเป็นสัดส่วน 53% จากยอดสินเชื่อคงค้างของสายงานสินเชื่อธุรกิจทั้งสิ้น 61,500 ล้านบาท) หรือโตขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 3% ใกล้เคียงกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยธนาคารมองว่าปี 2563 เป็นปีที่ต้องระมัดระวังและดูแลคุณภาพพอร์ตสินเชื่อเป็นอย่างดี ควบคู่กับการปรับตัวเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าในการใช้บริการกับ KKP ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร (Financial Solution) เพื่อช่วยลดรายจ่ายพร้อมกับเพิ่มสภาพคล่องและผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าเพื่อทำให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย บริการด้านการบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงิน (Cash Management), การป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจ (Risk Protection), และการบริหารการจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management)
สำหรับสินเชื่อที่สนับสนุนแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้น ธนาคารมีหลักในการให้การสนับสนุนโดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ หรือโครงการที่มีคุณภาพดี (Quality Business) โดยคำว่าคุณภาพดีนี้หลักใหญ่ใจความพิจารณาจากผู้ประกอบการที่มีประวัติดี(Good Developer), รูปแบบโครงการที่ดีตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อ (Good Product), ทำเลศักยภาพมีโอกาสทางการขาย (Good Location) และสถานทางการเงินของผู้ประกอบการที่เหมาะสม (Good Financial Status) และเมื่อธนาคารคัดเลือกลูกค้าแล้ว ธนาคารก็มีทีมงานที่จะคอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการขาย การก่อสร้าง และการโอน
การขาย – ธนาคารมีทีมงานในส่วนที่เป็นสถาปนิกและทีมวิจัยที่พร้อมจะช่วยให้คำปรึกษาตั้งแต่แบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ข้อกฏหมาย ข้อมูลทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพ รวมถึงระดับราคาที่เหมาะสม
การก่อสร้าง – ธนาคารมีทีมผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า (Relationship Manager) และทีมวิศวกรที่พร้อมจะดูแลความคืบหน้าของโครงการ รวมถึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ
การโอน – ธนาคารมีสิทธิประโยชน์ผ่านสินเชื่อที่อยู่อาศัยพร้อมให้กับลูกค้าของโครงการที่จะมาขอกู้ซื้อบ้านจาก Developer ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินกับ KKP มอบให้ด้วย
#สินเชื่อธุรกิจ