Money
ตีแผ่สมรภูมิ E-Commerce ไทย ตรงไหนคือโอกาส
Post by | Admin

Key Takeaways:
- KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรประเมินว่าตลาด E-commerce ในไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาทเป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2025 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม
- ตลาด E-commerce ในไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z และ (3) บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน ตัวอย่างเช่นบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ในไทยที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ
- KKP Research มองว่าการปรับตัวของธุรกิจไปสู่ช่องทางออนไลน์เป็นทั้งกลยุทธ์ลดผลกระทบจากโควิด-19 และขยายโอกาสการเติบโตในคราวเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมควรเริ่มสร้างรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) บนช่องทางและแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มการมองเห็น
- ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถนำช่องทางออนไลน์มาหลอมรวมกับหน้าร้านเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคหรือ Omnichannel experience แต่จำเป็นต้องบริหารต้นทุนหน้าร้านให้ลดลงเพื่อสามารถแข่งขันกับค้าปลีกออนไลน์ได้
- การแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจแพลตฟอร์มเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบส่งผลให้ธุรกิจแพลตฟอร์มยังคงมีแนวโน้มขาดทุน และในอนาคตอาจเหลือเพียงไม่กี่รายที่สามารถทำกำไรได้
- ธุรกิจคลังสินค้า ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงโฆษณาออนไลน์ เป็นธุรกิจที่จะขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของ E-commerce ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมที่อาศัยหน้าร้าน การขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ และกิจการร้านอาหารขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องปรับรูปแบบไปเป็นออนไลน์มากขึ้น
- ภาครัฐสามารถเสริมศักยภาพของ E-commerce ไทยได้โดย (1) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโลจิสติกส์ในประเทศ (2) สนับสนุนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บภาษีบนธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ และ (3) ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบระหว่างแดน