นับ 1 ให้ถึงล้าน :
พอร์ตไม่เป็นตามแผน ปรับแต่งยังไง?
ใน Ep.ที่แล้วผมได้ทดลองจัดพอร์ตลงทุนตามแบบประเมินความเสี่ยง ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง (ทำแบบประเมินความเสี่ยง คลิก) และมีสัดส่วนแนะนำการลงทุนดังนี้
จากภาพ หากผมจะลงทุนตามที่เครื่องมือแนะนำ ผมต้องไปศึกษาทำความเข้าใจสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ในสัดส่วน 40% ของกองทุนรวมตราสารทุน ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็นกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศและต่างประเทศ เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เป็นกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร หรือในสัดส่วน 30% ของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว ก็สามารถแบ่งได้เป็นในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องไม่ลืมพิจารณา Credit Rating ของตราสารที่กองทุนไปลงทุนด้วย ซึ่งควรพิจารณาในทุกสัดส่วนการลงทุนแยกตามสินทรัพย์ครับ
หลังจากนั้น ผมดูผลตอบแทนคาดหวังที่เครื่องมือนี้คำนวณให้ (กรณีไม่มีการปรับสัดส่วนระหว่างการลงทุน) พบว่าผลตอบแทนคาดหวังของพอร์ตการลงทุนในช่วง 5 ปี อยู่ระหว่าง 0.17 – 4.71% และในช่วง 10 ปี อยู่ระหว่าง 3.27 – 6.93% จะเห็นว่าจากเป้าหมายทางการเงินของผมคือ เก็บเงิน 1 ล้านบาทเพื่อทำธุรกิจภายใน 7 ปี โดยเก็บเงินเดือนละ 9,629 บาท ไปลงทุนโดยคาดหวังผลตอบแทนที่ 7% ต่อปี
จากพอร์ตลงทุนข้างต้นจะเห็นว่าผลตอบแทนไม่ถึง 7% สิ่งที่คุณทำได้คือ ปรับเปลี่ยน 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของเงินเพื่อเป้าหมายนี้ ได้แก่
1. เพิ่มเงินลงทุนต่อเดือน ซึ่งหากเก็บที่เดือนละ 9,629 บาท หากผมมองว่าไม่สามารถเพิ่มได้แล้ว ก็ให้ไปเพิ่มปัจจัยอื่นแทน
2. ขยายระเวลาในการเก็บเงินจาก 7 ปีออกไป จะเห็นว่าช่วง 10 ปี ผลตอบแทนคาดหวังสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6.93% ใกล้เคียงผลตอบแทนคาดหวังที่ 7%
และ 3. ปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุน โดยไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังสูงขึ้น เช่น ในตัวอย่างนี้อาจเพิ่มสัดส่วนลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนให้มากกว่า 40% (อาจเป็น 50-60%)
แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในที่นี้ผมเลือกทำในข้อ 3 คือ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนเป็น 50% และปรับลดสัดส่วนการลงทุนอื่นลดลง โดยกำหนดสัดส่วนนี้ให้เป็น SAA ของพอร์ตการลงทุน (SAA ย่อมาจาก Strategic Asset Allocation คือ กลยุทธ์การลงทุนที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนระยะยาวตามเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้)
จากภาพ เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอร์ตการลงทุนของผมเติบโต โดยเฉพาะในสัดส่วนของกองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น) จาก 50% กลายเป็น 80% ซึ่งสูงกว่ากลยุทธ์ SAA ที่วางไว้ และทำให้พอร์ตของผมกลายเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงค่อนข้างมาก หากในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน พอร์ตการลงทุนของผมก็มีโอกาสที่จะติดลบมาก สิ่งที่ต้องทำคือ ในทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี ผมต้องติดตาม ทบทวนพอร์ตการลงทุน และทำการ Rebalancing หากพอร์ตการลงทุนมีสัดส่วนของสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปจาก SAA (Rebalancing คือ การเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้)
และอีกกลยุทธ์การลงทุนที่อาจช่วยให้คุณถึงเป้าหมายการมีเงินล้านได้เร็วขึ้น นั่นคือ การทำ TAA ควบคู่กับ SAA (TAA ย่อมาจาก Tactical Asset Allocation คือ กลยุทธ์เพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมตามสภาพเศรษฐกิจ) จากภาพ หากเป็นช่วงขาขึ้นของตลาดหุ้น ผมอาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนจาก 50% เป็น 60% เพื่อหาโอกาสทำกำไรในระยะสั้น
กล่าวโดยสรุปคือ แม้จะมีการจัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่การลงทุนย่อมมีโอกาสเกิดความไม่แน่นอนขึ้นได้เสมอ ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือ หลังจัดพอร์ตการลงทุนด้วยกลยุทธ์ SAA แล้ว (แผนลงทุนระยะยาว) ก็ควรมีการทบทวนพอร์ตลงทุนทุกๆ 6 เดือน ถึง 1 ปี หากพอร์ตลงทุนมีสัดส่วนของสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปจากแผนลงทุนเดิม ก็ควรทำการ Rebalancing ปรับสัดส่วนสินทรัพย์ให้กลับไปตามแพลนเดิม และในระยะสั้น หากเห็นโอกาสในช่วงขาขึ้นของสินทรัพย์ในพอร์ตก็อาจปรับเพิ่มสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ ด้วยการทำ TAA ได้เช่นกันครับ
และในปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์การลงทุนแบบกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท (Asset Allocation) รวมถึงมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต (Rebalancing) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่
ถึงตรงนี้หากคุณได้ติดตามอ่านบทความซีรีส์ทางการเงิน “นับ 1 ให้ถึงล้าน” ในซีรีส์ที่ 1 : ล้านแรกในชีวิต มาจนจบ คงจะพอเห็นภาพว่าการมีเงินล้านไม่ได้ยากอย่างที่คิด สามารถปรับเปลี่ยนวางแผนแนวทางลงทุนได้ในแบบที่คุณต้องการ คุณสามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตและเก็บเงินลงทุนไปพร้อมกัน…ผมเชื่อว่าคุณก็ทำได้ครับ แล้วมาติดตามกับ ซีรีส์ที่ 2 : เงินล้านกับการลงทุน ได้ในครั้งหน้า…วันนี้สวัสดีครับ
To do list : 1. ทดลองจัดพอร์ตลงทุนแบบ SAA (ตามสัดส่วนที่เครื่องมือแนะนำ) คลิก ที่นี่
2. ศึกษาการทำ Rebalancing Port การลงทุน
3. ทดลองปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาดจาก SAA เป็น TAA