หากเราไม่ได้วางแผนเกษียณ
เราก็จะไม่ได้เกษียณ
วศิน สุขวัฒน์วิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวางแผนการเงินลูกค้าบุคคล ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ชวนคุณมาทำความรู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่ม Mass Affluent กับความจำเป็นในการวางแผนทางการเงิน พร้อมเปิดมุมมองต่อการลงทุนและปัจจัยที่ต้องจับตามองในช่วงนี้
HIGHLIGHTS
ที่มาของการขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้า Mass Affluent
กลุ่มลูกค้า Mass Affluent มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูง ถ้าดูจากสถิติของ BOT ลูกค้าที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1-10 ล้านบาทมีกว่า 1.3 ล้านบัญชี ยอดเงินฝากรวมอยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 26% ของเงินฝากทั้งระบบ
เรามองว่าก่อนหน้านี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมักจะมุ่งเน้นให้บริการเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้ากลุ่ม Wealth เป็นหลัก เราจึงมองว่าจากสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์ ทีมงานวิจัย และ Know-how ต่างๆ เราควรจะขยายไปถึงลูกค้ากลุ่ม Mass Affluent ด้วย
รายงานของทาง Credit Suisse ระบุว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ครอบครองส่วนแบ่งความมั่งคั่งกว่า 40% ซึ่งมากกว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็น High Net Worth (HNW) เสียอีก ซึ่งเรามองว่าลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไปมีศักยภาพที่จะเป็นลูกค้า High Net Worth ได้อย่างไม่ยาก
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ลูกค้ากลุ่ม Mass Affluent เติบโต
ปัจจัยที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เติบโตมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปค่อนข้างเร็ว มีการเชื่อมโยงคนเข้าหากัน ทำให้คนมีโอกาสเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการทำงานและการทำธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เติบโตเร็ว และมีโอกาสที่จะเป็นลูกค้า High Net Worth ได้ในอนาคต
สำหรับคุณลักษณะและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ที่เรามองคือเป็นคนที่มีอายุเฉลี่ย 30-40 ปีขึ้นไป เป็นผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูงหรือเจ้าของกิจการ ที่มีความกระตือรือล้นและมีความทะเยอทะยาน รวมถึงความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถจัดการทางการเงินได้อย่างระมัดระวังและรอบคอบ
ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของลูกค้ากลุ่มนี้คือมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง แต่การใช้จ่ายจะพิจารณาถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก ยกตัวอย่างหากลูกค้ากลุ่มนี้จะเดินทางโดยเครื่องบิน จะไม่เลือกเดินทางโดย First class หรือ Business class แต่จะจอง Economy class หรือ Low-cost Airline เพราะมองว่าไปถึงที่หมายได้เหมือนกันในราคาที่คุ้มค่ากว่า
อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจน และมีความมั่นคงทางการเงินของตนเองและครอบครัว เมื่อมีเงินหนึ่งล้านแรกแล้วก็จะพยายามให้มีล้านที่ 2 ล้านที่ 3 ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินมาก บวกกับการพยายามสร้างความมั่นคง ทั้งหมดนี้ทำให้มีโอกาสที่ลูกค้ากลุ่มนี้จะกลายไปเป็นลูกค้า High Net Worth ในอนาคตได้
ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความคุ้นเคยในการหาข้อมูล ความรู้จากแหล่งต่างๆ อีกทั้งในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างมาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วการหาข้อมูลเรื่องการเงินอาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย อาจจะต้องไปถึงห้องสมุด แต่ปัจจุบันการหาข้อมูลอะไรอาจจะใช้เวลาแค่ 5 วินาที จะเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยย่นระยะเวลาการหาข้อมูล รวมถึงทำให้เรียนรู้อะไรได้เร็วและง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนั้นเป็นคีย์หลักที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีความรู้ความเข้าใจและยังมีแนวโน้มที่จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าด้วยความที่ยังอายุไม่เยอะอีกด้วย
ความจำเป็นในการวางแผนการเงิน
หากเราพูดถึงลูกค้ารายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เป็น 100 ล้านหรือ 1,000 ล้านบาท การวางแผนทางการเงินอาจไม่จำเป็น แต่สำหรับกลุ่มคนที่ความมั่งคั่งระหว่าง 1-10 ล้านบาทมีความจำเป็นแน่นอน เพราะหากถามว่าเงิน 10 ล้านบาทเยอะหรือไม่ อาจจะดูว่าเยอะในมูลค่าเงินวันนี้ แต่เราต้องคิดกลับไปว่าคนกลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ยที่ 30-40 ปี และอาจจะมีอายุถึง 80-90 ปี เนื่องจากปัจจุบันคนอายุยืนขึ้นด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ต่างๆ หากเกษียณที่อายุ 60 ปี หลังจากนั้นก็จะไม่มีงาน ไม่มีรายได้ แปลว่าจะต้องมีเงินใช้จ่ายไปอีกประมาณ 20-30 ปี ซึ่ง 10 ล้านบาทอย่างไรก็ไม่พอ เพราะฉะนั้นการวางแผนทางการเงินจึงสำคัญสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้
ลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการที่จะมีอิสรภาพทางการเงินหรือ Financial Freedom ซึ่งสำหรับแต่ละคนอิสรภาพทางการเงินอาจไม่เหมือนกันได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความต้องการในชีวิต แต่อาจสรุปนิยามคำนี้ได้ว่าคือการที่เรามีเงินหรือสินทรัพย์ที่เราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายตามสมควร โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน และไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินพอใช้จนถึงสิ้นอายุขัยรึเปล่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนอยากมีคือความมั่งคั่ง ซึ่งดูได้จากทรัพย์สินสุทธิที่มีหักหนี้สิน ซึ่งทั้งสองอย่างรวมกันทั้งความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงินทำให้การวางแผนทางการเงินจึงสำคัญ
แผนเกษียณอายุ แผนการเงินที่สำคัญสำหรับทุกคน
สาเหตุที่เราต้องวางแผนเกษียณเพราะช่วงเวลาหลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว เราจะไม่มีรายได้ประจำจากการทำงาน ไม่มีแรงหาเงินเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่คือค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่เราจะเห็นว่ามันเพิ่มมากกว่าตอนที่เรายังไม่เกษียณคือค่ารักษาพยาบาล
จากแนวโน้มคนอายุยืนขึ้น ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 77 ปี ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลจะเห็นได้ว่าแนวโน้มคนมีอายุยืนขึ้น อย่างเด็กที่เกิดใหม่วันนี้มีโอกาสที่จะอายุยืนไปถึง 100 ปี สำหรับคนช่วงอายุ 30-40 ปีก็มีโอกาสมากๆ ที่จะอายุยืนยาวไปถึง 80-90 ปีซึ่งมาจากหลายปัจจัยทั้งเรื่องความเจริญของวิวัฒนาการทางการแพทย์ เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงคนทุกวันนี้ใส่ใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น
หากเราเกษียณตอนอายุ 60 ปี หากเราอยู่ถึงอายุ 70 ปี แปลว่าเรามีเวลาหลังเกษียณ 10 ปี แต่หากเราอายุยืนไปถึง 80-90 ปีแปลว่าเราจะมีช่วงเวลาหลังเกษียณ 20-30 ปี ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจคือจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย คนไทยประมาณ 41% ไม่มีการวางแผนเกษียณ และมีมากถึง 29% ที่ยังมีหนี้สินเมื่ออายุ 60 ปีแปลว่าหลังเกษียณแล้วคนกลุ่มนี้ซึ่งไม่มีรายได้แล้ว ยังคงมีรายจ่ายที่จะต้องจ่ายหนี้อยู่ด้วย
ดังนั้นการที่เรามีอายุยืนขึ้นควรจะเป็นความโชคดี แต่หากเราอายุยืนขึ้นแต่เงินหมดก่อน อันนี้อาจไม่ใช่ความโชคดี จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรต้องวางแผนเกษียณ
เรื่องที่สองคือสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่คนไทยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่หลายๆ ครอบครัวอยู่ด้วยกัน รวมถึงการมีลูกหลายคน แต่ปัจจุบันแนวโน้มเปลี่ยนไปคือบางครอบครัวอาจจะมีลูกแค่ 1-2 คน หรือบางครอบครัวอาจไม่มีลูกเลย ดังนั้นหากเราไม่มีการวางแผนเกษียณเลย การที่เราจะพึงพาลูกหลานหรือการเป็นครอบครัวใหญ่ ในปัจจุบันคงทำได้ยาก
ทุกวันนี้สวัสดิการของภาครัฐคงไม่เพียงพอ หากเราคิดจะพึงพาเฉพาะสวัสดิการรัฐหลังเกษียณ ใน 10 ปีข้างหน้า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุจะมีมากถึง 20% คือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดหรือที่เรียกว่า Aging Society สัดส่วนของคนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงจาก 6:1 ในปัจจุบันไปเป็น 3:1 ภายในปี 2021 ทำให้ภาษีที่รัฐจะจัดเก็บได้ยังไงก็ไม่พอที่จะเป็นสวัสดิการให้คนสูงอายุ ดังนั้นเราคงต้องพึงตัวเองด้วยการวางแผนเกษียณ
อีกสิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดคือข้าวของวันนี้แพงขึ้น เงินของเรามีมูลค่าเล็กลง เราจะพบว่าของแบบเดียวกันทุกๆ 20-30 ปี ราคาของจะเพิ่มขึ้นไปเป็นเท่าตัว หมายความว่าถ้าเราไม่ทำอะไรกับเงินเลยอำนาจซื้อของเราจะลดลง สิ่งนี้เรียกว่าเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นหากเราไม่บริหารเงินของเราให้มันงอกเงยอย่างน้อยเท่าเงินเฟ้อ อำนาจซื้อของเราก็จะน้อยลง
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดคือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปกติเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 3 - 3.5% ต่อปี แต่เงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลจะอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ซึ่งสิ่งนี้คือความน่ากลัว หากเราไม่มีการวางแผนเกษียณ
หากเราต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท และคิดว่าเราต้องอยู่ไปอีก 20 ปีหลังเกษียณ เงินทั้งหมดที่เราต้องมี ณ วันเกษียณคือ 12 ล้านบาท แต่นี่คือตามมูลค่าของเงินในปัจจุบันที่ยังไม่คิดเงินเฟ้อ หากเราคิดอัตราเงินเฟ้อปีละ 3.5% เข้าไปด้วยเงิน 12 ล้าน
ในระยะเวลา 10 ปีจะมีมูลค่าเท่ากับ 17 ล้านบาท
ในระยะเวลา 20 ปีจะมีมูลค่าเท่ากับ 24 ล้านบาท
และในระยะเวลา 30 ปีจะมีมูลค่าเท่ากับ 34 ล้านบาท
อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหากเราไม่ทำอะไรกับเงินเลยมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
อีกเหตุผลที่เราควรวางแผนทางการเงินเนื่องจากปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเยอะ เมื่อก่อนอาจมีแค่เงินฝากประจำ กองทุนตราสารหนี้ ตราสารทุน แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความซับซ้อนขึ้นก็อาจจะให้ประโยชน์เรา หากเราศึกษาทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากมัน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ รวมไปถึงหุ้นต่างประเทศต่างๆ อย่าง Platform ของภัทรสามารถนำพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้โดยตรง ตรงนี้จะเห็นได้ว่ามันสามารถเปิดโอกาสในการลงทุนให้เราได้ เมื่อก่อนอาจมีแค่เงินฝากประจำ Term Fund หรือกองทุนตราสารหนี้รายวัน เราอาจจะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 1% หรือ 2% แต่ถ้าเราสามารถกระจายการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นเช่น กองทุนที่ไปลงทุนโดยตรงที่ต่างประเทศ หรือ Equity Linked Note (ELN) ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น ซึ่งในบางช่วงเวลาก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงที่ 8% หรือ 10% เป็นต้น เหล่านี้ก็เพิ่มโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนให้เราได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนั้นก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องวางแผนเกษียณ เพราะตัวเลขต่างๆ มันบอกเราว่าหากเราไม่วางแผนเกษียณให้ดี การที่เราจะมีเงินใช้หลังเกษียณอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอาจเป็นเรื่องยาก
สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือหากเราไม่ได้วางแผนเกษียณ เราก็จะไม่ได้เกษียณนะครับ
การวางแผนการเงินควรเริ่มต้นอย่างไร
จริงๆ การวางแผนทางการเงินเหมือนกับการวางแผนการเดินทาง คือเราต้องรู้ก่อนว่าเราจะไปที่ไหน และเป้าหมายคืออะไร เช่นหากเป้าหมายคืออยากไปถึงเร็วที่สุด ก็อาจจะต้องไปโดยเครื่องบิน หากบอกว่าอยากไปถึงแบบประหยัดที่สุดก็อาจจะเป็นรถไฟ หากอยากไปถึงแบบ Private ทีสุดก็อาจจะเป็นรถส่วนตัว
การวางแผนการเงินก็เหมือนกัน คือเราต้องรู้ก่อนว่าปัจจุบันเราอยู่ที่ไหนเช่น ปัจจุบันอายุเท่าไหร่ มีเงินลงทุนเท่าไหร่ และเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน เช่นจะเกษียณตอนอายุ 55 หรือ 60 และอยากจะไปถึงเป้าหมายเร็วช้ายังไง ซึ่งเปรียบได้กับว่าเราจะลงทุนในอะไร ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ รับความเสี่ยงได้มากเท่าไหร่ และมีการลงทุนเพิ่มรึเปล่า
หากถามว่าการวางแผนทางการเงินควรเริ่มต้นยังไง จริงๆ มันเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวอย่างการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ว่าแต่ละวันเราใช้จ่ายเงินยังไง ซึ่งก่อนที่เราจะเริ่มวางแผนทางการเงิน เราควรจะต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับความจำเป็นพื้นฐาน เรียกได้ว่าเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ปกติทุกคนควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่อย่างน้อย 3-6 เดือนของเงินเดือนก่อนที่จะเริ่มวางแผนทางการเงิน
เงินก้อนนี้เป็นเงินที่ค่อนข้างจำเป็น หากในวันหนึ่งรายได้ของเราหยุดชะงักลงหรือถูกให้ออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน หรือยอดขายลดลง เช่นในช่วงโควิดหลายๆ คนอาจจะได้รับผลกระทบ เงินในส่วนนี้จะทำให้เราสามารถอยู่รอดไปได้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสมมติฐานคือ 3-6 เดือน แต่ถ้ามากกว่านั้นได้ก็จะดี เพราะในช่วงเวลาที่ไม่คาดฝัน เราก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่าเมื่อไหร่เราจึงจะได้รายได้กลับมาเหมือนเดิม
สำหรับคำถามว่าการวางแผนการเงินควรเริ่มเมื่อไหร่ ขอตอบว่าเริ่มได้ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะการเริ่มเร็วเรามีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้เร็วและง่ายกว่าจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งเรื่องของการลงทุนแล้วได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยทบต้น (Compounding Interest) รวมถึงการเริ่มตอนอายุยังน้อย สามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าตอนอายุมากขึ้น และมีระยะเวลาการลงทุนที่นานกว่า
หากจะเปรียบเทียบการปลูกต้นสัก เวลาที่ดีที่สุดที่ควรจะเริ่มปลูกคือเมื่อ 20 ปีที่แล้วและเวลาที่ดีที่สุดรองลงมากคือวันนี้ สำหรับการวางแผนทางการเงินก็เช่นกัน
ผมขอยกตัวอย่างการลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาท ที่ผลตอบแทน 10% ต่อปี เมื่อลงทุนไป 40 ปี เฉพาะดอกเบี้ยของเงินลงทุนจะเพิ่มเป็น 4 ล้านบาท จะเห็นว่ามันเพิ่มมากกว่าเงินต้นหลายเท่าตัว ผมกำลังจะชี้ให้เห็นถึงอานุภาพของดอกเบี้ยทบต้นหรือ Compounding Interest ว่าหากเราลงทุนได้ที่อัตราดอกเบี้ยสม่ำเสมอและลงทุนได้ระยะยาวพอ เงินของเรามันอาจจะโตมากๆ อย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเลย
อีกสิ่งหนึ่งคือ ผลตอบแทนของการลงทุนมีความสำคัญและสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญได้ บางคนอาจจะบอกว่าไม่อยากเสี่ยง เห็นการขาดทุนไม่ได้ แต่การไม่ลงทุนก็ถือเป็นความเสี่ยง ในระยะยาวคนเหล่านี้จะเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทน ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากเริ่มลงทุนที่อายุ 30 ปี จนถึงอายุ 60 ปีโดยเงินลงทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท
ที่ผลตอบแทน 6% ต่อปี ณ วันที่หยุดลงทุนเงินจะกลายเป็น 57 ล้านบาท
ที่ผลตอบแทน 7% ต่อปี ณ วันที่หยุดลงทุนเงินจะกลายเป็น 76 ล้านบาท
ที่ผลตอบแทน 8% ต่อปี ณ วันที่หยุดลงทุนเงินจะกลายเป็น 100 ล้านบาท
การเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนแค่ 1 หรือ 2% สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก ดังนั้นผมอยากบอกว่าการไม่ลงทุนก็ถือเป็นความเสี่ยง และการที่เราสามารถรับความเสี่ยงได้บางส่วนจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนแบบที่เราอาจจะคิดไม่ถึงได้
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า Compounding Interest เป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก คนที่เข้าใจมันก็จะได้รับประโยชน์จากมัน แต่คนที่ไม่เข้าใจมันก็จะต้องเสียโอกาสไป
บริการ Phatra Edge ตัวช่วยทุกเรื่องการลงทุน
Phatra Edge เป็นบริการสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนเริ่มต้น 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเราให้คำแนะนำตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย วางแผน ติดตามการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยที่เราจะมีคำแนะนำและเครื่องมือที่เรียกว่า 6 Month Portfolio Review ที่เราจะทำการทบทวนพอร์ตการลงทุนของลูกค้าทุกๆ 6 เดือน
แผนการเงินที่ Phatra Edge มีให้บริการมีความหลากหลายทั้งแผนเกษียณ แผนการศึกษาบุตร แผนภาษี รวมไปถึงแผนการลงทุนทั่วไป นอกจากช่วยวางแผนการเงินแล้ว เรายังมีผู้เชียวชาญที่คอยช่วยให้คำแนะนำการลงทุน โดยคำแนะนำมาจากทาง CIO Office และยังมีบทวิเคราะห์จากทีมวิจัยที่ได้รับรางวัลอย่างมากมาย รวมถึงความสะดวกสบายที่ได้รับในการลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น หุ้นกู้ หุ้นกู้อนุพันธ์ รวมถึงกองทุนรวมส่วนบุคคล
เรามีทีม Investment Advisor ที่จะช่วยวางแผน แนะนำ และติดตามการลงทุนให้กับลูกค้าที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป
สำหรับลูกค้าที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่ถึง 5 ล้าน เราก็จะมีทีม Financial Solution Center ซึ่งจะเป็นทีมกลางที่ช่วยให้คำแนะนำ ดูแลและติดตามการลงทุนให้ลูกค้าโดยให้บริการทางโทรศัพท์เป็นหลัก
ปรัชญาในการทำธุรกิจของเราก็คือเราแนะนำบนผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก เราเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แปลว่าเราจะแนะนำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นผลประโยชน์ที่สุดกับลูกค้า คำแนะนำในการลงทุนของ Phatra Edge เราจะแนะนำให้กระจายการลงทุนผ่านหลายๆ สินเทรัพย์หรือที่เรียกว่า Asset Allocation เพราะเรามองว่าไม่มีสินเทรัพย์ใดจะทำได้ดีทุกช่วงเวลาและการทำ Asset Allocation เป็นการถัวเฉลี่ยความเสี่ยง เพื่อที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพของพอร์ดทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง
เราแนะนำให้กระจายการลงทุนทั้งในรายสินทรัพย์เช่นมีทั้งหุ้น ตราสารหนี้ การลงทุนทางเลือก รวมไปถึงทองคำ มากกว่านั้นเรายังแนะนำให้กระจายการลงทุนในมุมมองของประเทศด้วย เนื่องจากจะมีนักลงทุนบางส่วนที่เลือกที่จะลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ในประเทศหรือที่เรียกว่า Home Bias เช่นการซื้อเฉพาะหุ้นหรือตราสารหนี้ในประเทศเท่านั้น เพราะรู้สึกว่าคุ้นเคย รู้จัก และสามารถหาข้อมูลและติดตามข่าวสารได้อย่างใกล้ชิด
ในความเป็นจริงแล้วการลงทุนเฉพาะในประเทศถือว่าเป็นการเสียโอกาสในการลงทุนอย่างมาก เพราะหากเราดูขนาด GDP ของไทยจะคิดเป็นเพียง 0.6% ของ GDP รวมของทั้งโลก ซึ่งถือว่าเล็กมาก จะทำให้เราเสียโอกาสทั้งในส่วนของความกว้างและความลึก ยกตัวอย่างการลงทุนในกลุ่ม Health Care ในประเทศไทยเราจะนึกถึงโรงพยาบาลเป็นหลัก แต่ในต่างประเทศกลุ่ม Health Care จะมีความกว้างมากกว่าทั้งโรงพยาบาล, Bio-technology, Pharmaceutical, Hospital Service, Nursing Care
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดคือถ้าเราพูดถึง Technology หรือ Communication Services หุ้นกลุ่ม FAANG ซึ่งได้แก่ Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google เป็นบริษัทที่เราคุ้นเคยและมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างมาก ซึ่งหากลงทุนในเมืองไทยเพียงอย่างเดียว ก็จะเสียโอกาสเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงอยากให้กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น
มุมมองต่อการลงทุนช่วงนี้ และปัจจัยที่ต้องจับตามอง
เรามองว่าความผันผวนของตลาดยังมีค่อนข้างสูงในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรจะต้องมีมุมมองการลงทุนที่เป็นระยะยาว และยังต้องรักษาวินัยการลงทุนต่อไป เรายังเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว และยังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศด้วย
เรามองว่าการลงทุนในต่างประเทศมีขนาดที่ใหญ่กว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว รวมทั้งตอนนี้ตลาดหุ้นไทยขึ้นมาเยอะแล้วจึงมองว่าการลงทุนอย่างมีวินัยและระมัดระวังยังเป็นคีย์หลักๆ ที่สำคัญ
ปัจจัยที่ต้องจับตามองหลักๆคือ COVID-19 ซึ่งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ผู้ติดเชื้อทั่วโลกรายใหม่ก็ยังมีอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็น่าจะยังมีอยู่เรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันมันเพิ่มในอัตราที่ช้าลง รวมถึงความเสี่ยงของการ Re-open จะมีความเสี่ยงของ Second Wave หรือไม่
รวมถึงผลกระทบของความเสี่ยงต่อธุรกิจต่างๆ ที่เราเห็นได้ชัดคือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่ธุรกิจเหล่านี้เท่านั้น แต่มีการกระทบเป็นวงกว้างทั้งในส่วนของอุปสงค์ อุปทานต่างๆ และยังมีเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ที่เรายังต้องติดตามทั้งในและต่างประเทศ
เรื่องของการปิดกิจการอาจจะยังมีไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผลทำให้คนตกงาน เมื่อคนตกงานจะมีผลให้คนไม่มีเงินใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้ รัฐบาลก็ต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งเราก็ได้เห็นธนาคารกลางหลายๆประเทศทำไปบ้างแล้ว
อีกปัจจัยที่ยังต้องจับตาดูคือความเสี่ยงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่าจะไปในทิศทางใด รวมถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ช่วงปลายปี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการลงทุนได้
คำแนะนำของเราในตอนนี้คืออยากให้กลับไปตรวจ Portfolio ของตัวเอง ทบทวนความเสี่ยงของพอร์ตและของตัวเราว่าเหมาะสมกันมั้ย ต้องปรับเปลี่ยนอะไรอย่างไร และอย่าละเลยมุมมองการลงทุนระยะยาว รวมถึงความผันผวนก็ยังอาจจะเป็นโอกาสให้เราเข้าลงทุนได้ จริงๆ แล้วการจับจังหวะการลงทุนทำได้ค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นเครื่องมือในการลงทุนที่เราอยากจะแนะนำก็คือการถัวเฉลี่ยราคาต้นทุน หรือที่เราเรียกว่า DCA นั่นเอง
สำหรับคำแนะนำการลงทุนโดยรวม เราแนะนำให้กระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เราชอบตลาดหุ้นต่างประเทศมากกว่าตลาดหุ้นไทย เราให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็น overweight โดย เรา overweight ตลาดหุ้นสหรัฐฯ neutral ตลาดหุ้นในยุโรป และ underweight ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ Emerging Market และให้น้ำหนักการลงทุน underweight ตลาดหุ้นไทย รวมถึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ เนื่องจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่างๆ น่าจะผลักดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นและทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
การวางแผนทางการเงิน หรือการลงทุนในช่วง COVID-19
ต้องบอกว่าสถานการณ์ในช่วง COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างแผ่วงกว้างไปทั้งโลก ซึ่งไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤต Sub-prime ที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง นอกจากนี้เรายังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ก่อนที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคได้ และเราก็ยังไม่รู้ว่าหลังการเปิดเมืองจะมี Second Wave หรือไม่ คนจะตกงานอีกเท่าไหร่
เทคนิคการบริหารเงินช่วง COVID-19 สิ่งที่สำคัญมากๆ คือการจัดการหนี้เก่าที่เรามีอยู่ หากเรามีภาระในการจ่ายหนี้เป็นประจำทุกเดือน แต่รายได้เกิดน้อยลงหรือขาดรายได้ ทำให้เราไม่สามารถจ่ายหนี้ไหว การจัดการหนี้เก่าคือเราควรต้องเจรจากับคู่สัญญา หรือดูว่าธนาคารคู่สัญญาของเรามีมาตรการอะไรในการช่วยเหลือหรือไม่ คีย์หลักคือไม่หลบเลี่ยง เงียบหายไป โดยที่เราต้องไปเจรจา ขอความช่วยเหลือที่จะผ่อนปรนตรงนี้ ห้ามหยุดจ่ายเองโดยเด็ดขาด
การพิจารณาสินทรัพย์ที่มีอยู่ว่ามีสินทรัพย์ใดบ้างที่มีสภาพคล่องพอที่จะ Liquidate ได้ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้แค่การจัดการหนี้เก่าอาจจะไม่พอ ต้องบริหารสภาพคล่องของตัวเองด้วย
ข้อต่อมาคือไม่พยายามก่อหนี้ใหม่ ด้วยสภาวการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ก่อนที่จะสร้างหนี้ใหม่ เราต้องกลับมาดูที่ความจำเป็น ว่าสิ่งที่เราจะซื้อเป็นการใช้จ่ายที่จำเป็นรึเปล่า เช่นหากจะซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือสร้างหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มเติมอาจจะต้องชะลอลง เพราะจะเป็นการเพิ่มรายจ่ายระยะยาวในขณะที่รายได้ของเรายังมีความไม่แน่นอน
การควบคุมรายจ่าย โดยเราต้องแยกให้ออกว่าอะไรที่เป็น Need หรือ Want Need เป็นสิ่งที่จำเป็นซึ่งเราอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้จ่ายในสิ่งนั้น แต่ Want เป็นสิ่งที่สามารถดีเลย์ได้ ดังนั้นการจำแนกรายรับ-รายจ่ายเป็นประเภทต่างๆ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาลูกเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ที่ควรต้องจัดสรรเงินไว้เมื่อมีรายรับเข้ามา
เรื่องถัดมาคือเรายังคงต้องลงทุนอยู่ แต่ลงทุนอย่างระมัดระวัง เพื่อเปิดรับโอกาสในอนาคต เพราะทุกๆ ครั้งที่มีวิกฤตก็จะมีโอกาสอยู่ด้วย อย่างที่เราเห็นว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ตลาดมีการปรับตัวลงก็เป็นโอกาสที่เราจะเข้าลงทุนได้ แต่ก็แลกมาด้วยความผันผวน ก็ต้องสำรวจตัวเองว่าเราเหมาะกับการลงทุนประเภทใด รับความเสี่ยงได้เท่าไหร่
ส่งท้าย
หลังจากเกิด COVID-19 การดำเนินชีวิตของเราหลายๆ อย่างได้เปลี่ยนไป เกิด New Normal ขึ้นมา สำหรับการลงทุนสิ่งที่สำคัญที่เราควรทำคือการกลับมาทบทวนทั้งแผนการเงินของเรา พอร์ตการลงทุนของเราว่ามีอะไรต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ ว่ามันจะรองรับกับสิ่งไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในอนาคตได้มั้ย
ในช่วงระหว่างที่ยังไม่มีวัคซีนออกมาเราคงต้องปรับการดำเนินชีวิตให้มีความระมัดระวังมากขึ้น แต่สำหรับแผนการเงินของเรามันไม่ต้องรอ เราสามารถปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง
สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนไว้ก็คือ เรายังเชื่อว่าจะต้องลงทุน เพราะในการลงทุนระยะยาว หากเรามีความเข้าใจ เลือกลงทุนสินทรัพย์ที่ดีที่เหมาะกับเรา และมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวพอ ผมยังเชื่อว่ายังไงก็ไม่ขาดทุน
การบริหารเงินให้ถึงเป้าหมายได้ต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การทำตามแผน การติดตาม และการทำซ้ำๆ ไป สิ่งที่สำคัญผมคิดว่าผู้ที่จะวางแผนต้องมีความเข้าใจและมีวินัยที่จะทำตามแผนอย่างเคร่งครัด
ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ