ฉายภาพเศรษฐกิจกับ 3 ประเด็น
ที่ต้องจับตาในปี 2020
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) มาช่วยฉายภาพสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก พร้อมเปิดมุมมองให้นักลงทุนเตรียมรับมือกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น และมอบคำแนะนำที่สามารถปรับใช้ได้กับทุกเป้าหมายทางการเงินของนักลงทุน
HIGHLIGHTS
ฉายภาพตลาดปี 2020
ผมมี 3 ประเด็นที่อยากจะพูดถึง อย่างแรก คือโลกเรากำลังมีแนวโน้มโตช้าลง สอง คือ มีความไม่แน่นอนสูง และ สาม นอกจากประเด็นระยะสั้น ช่วงนี้เราจะเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระยะยาวค่อนข้างมากในหลายเรื่อง ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจกำลังเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
โลกกำลังโตช้าลง
ทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าของโลก เราจะเห็น momentum ชะลอตัวลง คนส่วนใหญ่ยังมองเศรษฐกิจโลกอยู่ในโหมดโตช้า คือเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอยู่แต่โตได้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปี 2019 และต่ำกว่าแนวโน้มที่ผ่านมา แต่อาจจะมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อยที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือจะเกิดเป็นวิกฤติอย่างที่กังวลกันก่อนหน้านี้
เศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศกำลังโตช้าลง อย่างสหรัฐฯ ที่เราเห็นว่าปีที่ผ่านมาโตได้ค่อนข้างดี แต่ปีนี้คิดว่าการกระตุ้นการอัดฉีด ทั้งในแง่การใช้ดอกเบี้ยต่ำและนโยบายการคลังน่าจะเริ่มชะลอลง เศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐฯ อาจจะชะลอจากที่เคยโตประมาณ 2.7% ไปโตเหลือ 1.7% ยุโรปอาจจะโตช้าลงนิดหน่อย ญี่ปุ่นอาจจะโตต่ำกว่า 1% เพราะเพิ่งขึ้นภาษีไปเมื่อเดือนตุลาที่ผ่านมา หรือประเทศใหญ่อย่างจีนปีหน้าอาจจะโตลดลงจากที่เคยเกิน 6% เหลือไม่ถึง 6% จะเห็นว่าประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลายค่อยๆโตช้าลง
แต่ข่าวดีคือธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ก็ยังคงพร้อมใจที่ใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างปีที่ผ่านมาเราเห็นสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ทั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้แย่เลย อัตราการว่างงานต่ำมาก แสดงว่าเค้าเห็นเทรนด์แล้วว่าเศรษฐกิจจะชะลอ ดังนั้นก็เลยกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ หรือธนาคารกลางยุโรปซึ่งวันนี้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ แสดงให้เห็นว่าตั้งใจกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ แม้กระทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งวันนี้ดอกเบี้ยติดลบอยู่แล้วก็ยังพร้อมที่จะเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่
แม้ว่าปีนี้เราอาจจะไม่ได้คาดว่าธนาคารกลางใหญ่ๆ จะลดดอกเบี้ยเพิ่มให้แล้ว แต่ท่าทีของผู้กำหนดนโยบายที่พร้อมจะเข้ามาก็ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงลงไปได้บ้าง แต่ก็อาจมีบางคนตั้งคำถามว่าลดดอกเบี้ยมาขนาดนี้แล้ว ติดลบขนาดนี้แล้วกระสุนมีจริงรึเปล่า นโยบายการเงินมาสุดทางแล้วหรือไม่ ต้องเริ่มใช้นโยบายการคลังมากขึ้นหรือเปล่า ก็อาจจะเป็นประเด็นที่ต้องรอดูต่อไปครับ
สำหรับเศรษฐกิจไทย เรามองว่าในปี 2020 เศรษฐกิจไทยคงโตใกล้เคียงกับปีก่อน ประมาณ 2.8% เทียบกับ 2.5% ในปีก่อน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งเพราะว่าเศรษฐกิจโลกโตช้า การค้าโลกมีน้อยลง ปัจจัยที่เคยเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยก็ถูกทำให้มันช้าลงด้วย แรงกดดันจากเศรษฐกิจข้างนอก ทำให้โมเมนตั้มเศรษฐกิจหมุนช้าลง เราเป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกในเรื่องการส่งออกค่อนข้างเยอะ การส่งออกคิดเป็นมากกว่า 60% ของ GDP ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกโตช้า เราก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 เศรษฐกิจไทยโตกว่า 4% ซึ่งโตสูงสุดในรอบหลายปี ตอนนั้นมีพระเอก 3 ตัวคือส่งออก ท่องเที่ยว และยอดขายรถ พอมาปี 2019 พระเอก 3 ตัวนี้หายหมดเลย ทำให้ตัวเลขลดลงจาก 4% กว่าเหลือ 2% กว่า เข้ามาปี 2020 เราก็ยังหาพระเอกไม่เจอเหมือนเดิม คือไม่มีใครเป็น engine of growth ที่จะมาดึงเศรษฐกิจขึ้นไป
ในปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าเมื่อยอดการส่งออกเริ่มติดลบ ก็เริ่มไปกระทบต่อการผลิตสินค้า และต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน เห็นได้จากคนงานที่ได้รับ OT เริ่มลดลง เวลาการทำงานลดลง เริ่มมีโรงงานปิดกิจการ มีการเลิกจ้าง ซึงก็เริ่มไปกระทบต่อรายได้ของแรงงาน ยิ่งทำให้การบริโภคภายในประเทศโตช้าลง ประเด็นเหล่านี้จะกดดันเศรษฐกิจไทยในปี 2020 เมื่อคนมีเงินน้อยลงแล้วจะมีเงินจากไหนมาบริโภค
ประเด็นถัดมาคือ รายได้ภาคการเกษตรยังคงเป็นปัญหา เราเริ่มเห็นสัญญาณของภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รายได้ภาคเกษตรจึงยังมีความเสี่ยง และเราเห็นความแตกต่างกันระหว่างจังหวัดใหญ่ๆ ที่ได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวกับจังหวัดห่างไกลที่ต้องพึ่งพารายได้จากการเกษตร ภาพที่เราเห็นการบริโภคที่ผ่านมาไม่ค่อยดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ เราสังเกตว่าการลงทุนภาคเอกชนโตช้ามากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจาก ความสามารถในการแข่งขัน และเรื่องค่าแรงงานที่แพงขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ขนาดตลาดของเราเล็กลง ทำให้คนจะมาลงทุนในเมืองไทยต้องดูแล้วว่าขนาดตลาดเพียงพอหรือไม่ และความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างไร เราเริ่มแข่งกับคนอื่นไม่ได้แล้ว ตอนนี้เวียดนามเป็นเป้าหมายในการเข้าไปลงทุนมากกว่าไทย ค่าแรงก็ถูกกว่าไทย
จากที่กล่าวมาหลายคนอาจจะถามว่าแล้วไม่มีประเด็นที่เป็นบวกเลยหรอ เรามองว่าประเด็นที่จะเป็นบวกน่าจะเป็นประเด็นภายนอกประเทศ เรื่องการค้า มีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแบบที่เรียกว่า “mini cycle” หลังจากการผลิตติดลบไปนาน ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนน่าจะทำให้การค้าโลกกลับมาดีขึ้น และทำให้การส่งออกของเราไม่ติดลบปีนี้ ถ้าโชคดีอาจจะเห็นการส่งออกกลับมาโตได้อีกครั้ง การท่องเที่ยวยังเป็นจุดที่ยังโตได้อยู่ นอกจากนี้หลายๆคนตั้งความหวังกับการลงทุนจากภาครัฐ หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังมาช่วยได้บ้าง แต่เรายังกังวลว่าการบริโภคและการลงทุนที่แผ่วจะเป็นประเด็นที่ฉุดให้ Outlook ปีหน้าไม่ได้โตเพิ่มจากปีนี้เท่าที่ควร ปัญหายังคงเป็นเรื่องของการที่เราไม่มีพระเอกหรือเครื่องจักรที่จะนำการเจริญเติบโต
ประเด็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
อีกประเด็นที่สำคัญของเมืองไทยและเศรษฐกิจโลกคือเรื่องของความไม่แน่นอน สิ่งที่เราเห็นคืออาจจะมีเรื่องความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทั้งสองด้าน คืออาจจะทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนภาพไปก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกไปแล้ว แต่ก็ยังคงต้องรอดูว่าจีนจะทำตามที่ตกลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มีความเสี่ยงที่ภาษีอาจจะขึ้นต่อไปอีก ก็จะเป็นประเด็นที่กดดันของเศรษฐกิจโลกได้อีก ปีนี้ยังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งอาจจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจพอสมควร นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอื่นๆอีก เช่น Brexit หรือประเด็น geo-politics ดังนั้นนอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโตช้าแล้ว ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจจะทำให้ภาพเศรษฐกิจปี 2020 เปลี่ยนไปได้เหมือนกัน
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเริ่มเกิดขึ้นเร็วขึ้น และส่งผลต่อธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น เราพอที่จะเห็นแนวโน้มใหญ่ๆอยู่ 2 เรื่อง อันแรกคือ โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่ออัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็ว และคนอายุยืนขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่เด็ก และคนวัยทำงานลดลง ทำให้โครงสร้างตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป
และที่สำคัญคือจำนวนประชากรวัยทำงานในประเทศไทย ได้ผ่านจุดสูงสดไปแล้วและกำลังจะลดลงเรื่อยๆ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญเพราะเปรียบเหมือนเครื่องจักรที่มี input ใส่ไปน้อยลง ถ้าจะให้เศรษฐกิจโตได้เหมือนเดิม productivity จะต้องดีขึ้น หมายความว่า แรงงาน 1 คนจะต้องผลิตให้ได้เยอะขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว จะต้องมีการยกเครื่องจักรใหม่ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยคงโตช้าลงไปเรื่อยๆ
แนวโน้มต่อมาคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในด้านต่างๆ ที่เรียกว่า disruption เราเริ่มเห็นแล้วว่าในหลายๆ ธุรกิจเริ่มเจอการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่มสื่อ คนไม่ได้นั่งดูทีวีแบบเดิมๆ การใช้จ่ายในสื่อไม่ได้ต้องหว่านแบบเดิม มีการใช้สื่อแบบ personalize มากขึ้น คนใช้ social media ในการรับสื่อมากขึ้น ธุรกิจที่อยู่ในสื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบไปหมดเลย ทั้งในเรื่องของการใช้จ่ายและเรื่องอื่นๆ
ในกลุ่มค้าปลีก เราก็เริ่มเห็นว่าผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งแบบเดิมๆ เริ่มถูก disrupt เพราะมี logistics ที่ดีขึ้น สามารถสั่งตรงได้ ความจำเป็นที่จะต้องเก็บสต็อกไว้เยอะๆ ความจำเป็นที่ต้องมีหน้าร้านได้เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ธุรกิจร้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เราใช้คำว่า disrupt คือมันเข้ามาเขย่า ไม่ได้หมายความว่ามันจะแย่ไปซะหมด แค่บอกว่าคนที่ทำธุรกิจแบบเดิมๆ เริ่มอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องมองหาโอกาสและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
แม้กระทั่งธุรกิจการเงินของเราเอง ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว ตั้งแต่คนไม่ค่อยไปสาขา คนใช้ mobile banking เยอะขึ้น เมื่อการเข้าถึงบริการเปลี่ยนไป เราคงทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว (Business as usual is not an option) แต่เราจะมองหาโอกาสและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กเริ่มเป็น NPL เยอะ มันไม่ได้เป็นผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้วย ดังนั้นใครที่ปรับตัวไม่ทันก็ลำบาก เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแบบนี้จะพัฒนาเร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และเริ่มมีผลกระทบโมเดลธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภคและพฤติกรรมการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม และมีผลทั้งการทำธุรกิจและการลงทุน
การลงทุนเพื่อตั้งรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
ในแง่ของแนวคิดในการลงทุนเรายังเชื่อในแนวทางของ asset allocation เรายังเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังมีความจำเป็น และการกระจายความเสี่ยงไปยังหลายๆ สินทรัพย์ซึ่งหลักๆ คือหุ้น พันธบัตร สินทรัพย์ทางเลือก และเงินสดจะช่วยลดความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
เราเชื่อว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ก็มาพร้อมกับความผันผวนระยะสั้น ส่วนพันธบัตรให้ผลตอบแทนไม่สูง อย่างช่วงหลังๆ ดอกเบี้ยลงก็ให้ผลตอบแทนต่ำลงไปอีก แต่ก็มีความผันผวนไม่เยอะ และในปีที่หุ้นไม่ดีพันธบัตรมักจะดี สินทรัพย์ทางเลือกอาจจะมาช่วยในแง่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และผันผวนไปตามตลาดหุ้นน้อยหน่อย เงินสดก็มีสภาพคล่องสูงและสามารถซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมในวันที่ราคาทรัพย์สินปรับตัวลดลง ดังนั้นการลงทุนระยะยาวเราคิดว่าควรจะมีทั้ง 4 ประเภทสินทรัพย์ สัดส่วนจะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นกับความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ การจัด asset allocation ในระยะยาวทำให้นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงในระดับที่ต้องการและสามารถปรับระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนตามสภาวะตลาดได้
ในปี 2020 นักลงทุนอาจจะมองว่าราคาหุ้นหลายตัวเริ่มแพงใกล้ๆ all-time highs การลงทุนก็อาจต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวก็ต้อง stay invested อยู่ดี เพียงแต่ต้องมีสัดส่วนของหุ้นและพันธบัตรในระดับที่เหมาะสมกับแต่ละคน
เราค่อนข้างกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกำไรของหุ้นไทยมากกว่าตลาดต่างประเทศ เพราะไทยกำลังเผชิญมรสุมหลายลูก ทั้งความสามารถในการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร และที่สำคัญคือ เราไม่ค่อยจะมีส่วนร่วมได้รับประโยชน์จากแนวโน้มที่กำลังเปลี่ยนแปลงในโลก เช่น วันนี้ทั่วโลกพูดถึง disruptive technology แต่ไทยเราไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมกับเขาเลย
มุมมองเราเลยยังเชื่อว่าถ้านักลงทุนอยากลงทุนในหุ้นก็ต้องมีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศบ้าง เพื่อกระจายความเสี่ยงและรอรับการเจริญเติบโตจากภายนอก ยกตัวอย่างถ้าวันนี้เราดูขนาดของตลาดหุ้นไทย คิดเป็นแค่ 0.5% ของตลาดหุ้นทั่วโลก ดังนั้นถ้าเราลงทุนอยู่แต่หุ้นไทยอย่างเดียวแปลว่าเรากำจัดตัวเองอยู่แค่ 0.5% ของสิ่งที่สามารถลงทุนได้ทั่วโลก ดังนั้นเราควรที่จะหาโอกาสศึกษาเพื่อที่จะลงทุนไปนอกประเทศบ้าง
นอกจาก “ขนาด” ของโอกาสแล้ว การลงทุนในต่างประเทศก็ช่วยเพิ่ม “ความกว้าง” ของโอกาส ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม healthcare ถ้าในเมืองไทยก็จะมีแต่หุ้นโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นต่างประเทศเรากำลังพูดถึงการลงทุนในหุ้นกลุ่ม biotech บริษัทยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมันมีโอกาสที่จะพัฒนาและเติบโตได้มาก ดังนั้นเราก็ยังคงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนและลองพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
การลงทุนที่คนสนใจมากขึ้นในช่วงหลังนี้คือการลงทุนแบบ passive เพราะคนเริ่มมองว่าทำไมต้องจ่ายแพงให้ผู้จัดการกองทุน หลายคนเลยเริ่มมาลงทุนใน ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งค่าธรรมเนียมถูกและได้รับผลตอบแทนเหมือนลงทุนในดัชนีอ้างอิง ซึ่งสำหรับคนที่ลงทุนในระยะยาว หรือเข้าออกเร็วๆ ต้นทุนของธุรกรรมซื้อขายก็จะต่ำกว่า เหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนในระยะยาวหรือจับจังหวะตลาด ยิ่ง 1-2 ปีหลังเราเริ่มเห็นว่ากองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลบางครั้งก็ไม่ชนะตลาด ซึ่งทำให้กองทุนแบบ passive ได้รับความนิยมมากขึ้น ยิ่งเริ่มมีกองทุนแบบนี้ในหลายๆ asset class มากขึ้น ใครสนใจใน sector อะไรเป็นพิเศษ เช่น การเงิน พลังงาน การแพทย์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มค้าอาวุธ ก็มีให้เลือกลงทุนได้ และหลังๆก็เริ่มมี style ที่หลากหลายขึ้น เช่น value, growth, momentum ตอนนี้ทางเลือกในการลงทุนแบบนี้มีเยอะขึ้นมาก ซึ่งสำหรับตลาดเมืองไทยจะยังไม่หลากหลายเนื่องจากมีข้อจำกัด แต่ในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ฮ่องกงจะมีพวกนี้เยอะ ภัทรของเราก็มีบริการให้ไปลงทุนในต่างประเทศ ไปซื้อกองทุนพวกนี้ได้โดยตรง สำหรับใครที่ไม่ชินกับการไปซื้อหุ้นเป็นตัวๆ การใช้บริการนี้ไปซื้อเป็น ETF ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
การลงทุนระยะยาวเราแนะนำลงทุนในช่วงเวลาตั้งแต่ 3-5 ปี เพราะถ้าสั้นกว่านั้น ผลตอบแทนที่คาดหวังจะมีความผันผวนได้เยอะ ถ้าเราสามารถทิ้งเงินไว้ได้นานกว่านั้นโอกาสที่การลงทุนจะเข้าใกล้ผลตอบแทนที่คาดหวังก็มีมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นกับเป้าหมายการลงทุนด้วยว่าเหมาะกับการลงทุนระยะยาวแบบนี้หรือไม่
การลงทุนไม่ว่าปัจจุบันหรือในอดีตก็มีความยากอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับในช่วงนี้ที่หุ้นค่อนข้างแพง วิธีการหนึ่งที่อาจจะช่วยได้คือแทนที่จะซื้อหมดทีเดียวก็ค่อยๆ เข้าเป็นไม้ หรือบางคนใช้วิธี Dollar Cost Average (DCA) หรืออาจจะรอวันที่ราคาลงค่อยซื้อ แต่ถ้าใครมองว่าตลาดแพงจริงๆ ก็อาจจะลงทุนแต่เก็บเงินสดไว้บางส่วน
สัดส่วนการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร
นักลงทุนแต่ละคน ควรมีสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ระดับปานกลาง เราก็แนะนำว่าควรมีสัดส่วนในหุ้นสักประมาณ 50% และในหุ้นครึ่งหนึ่งควรจะแบ่งไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ และสำหรับคนที่มองว่าถ้าไม่ได้ติดตามจะไม่เข้าใจการลงทุนนี้ เรามีทางเลือกการลงทุนอีก 2 แบบคือเลือกลงเป็นกองทุน โดยอาจเป็นกองเดียวหรือหลายๆกองทุนก็ได้ จะได้เสมือนมีผู้จัดการกองทุนหลายๆ คนช่วยดูแล หรือหากกังวลว่าต้องจ่ายค่าบริการแพงก็สามารถซื้อกองทุนแบบ passive คือกองทุนที่เน้นให้ผลตอบแทนตามดัชนี ทีนี้เราก็จะสามารถจัดสรรการลงทุนของเราเองได้ แทนที่จะมองเราเองเป็นคนเล่นหุ้น ก็เปลี่ยนเป็นคนจัดสรรเงินในพอร์ตให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ต้องการ
ทุกวันนี้ทางเลือกในการลงทุนมีเยอะขึ้น มองไปปีหน้าผมก็เชื่อว่าการจัดพอร์ตแบบนี้ยังมีความเหมาะสมอยู่ และอาจจะมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนน้ำหนักบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับระดับราคาระดับราคา และแนวโน้มการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆ
ประเด็นที่ต้องพิจารณาสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ
สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน
ต้องบอกว่าความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเป็นความเสี่ยงที่คาดเดาได้ยากมาก ซึ่งมีมุมมองได้ 2 แบบ แบบแรกคือถ้าไม่อยากรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย ก็เลือกลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 100% ซึ่งวิธีการก็คือเค้าจะไปลงทุนในตราสารต่างๆ เพื่อเอาความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนออก ซึ่งสิ่งที่จะได้ก็คือผลตอบแทนจากการลงทุนและอาจจะบวกลบด้วย hedging cost ซึ่งในช่วงนี้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงค่อนข้างถูกเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน
ขณะเดียวกันสำหรับคนที่มีความต้องการใช้เงินในอนาคตเป็นเงินตราต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น ต้องส่งลูกเรียนต่างประเทศ หรือกำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ ตรงนี้ก็อาจจะทำให้การลงทุนบางส่วนสามารถทิ้งไว้เป็นเงินต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องประกันความเสี่ยง
มุมมองของเราในปี 2020 ค่าเงินบาทอาจจะยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ แต่อาจจะไม่ได้แข็งเพิ่มขึ้นมากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ถ้าเราดูในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งขึ้นเกือบ 20% ถือว่าแข็งขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ส่วนสาเหตุข้อแรกเลยคือเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ จากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเยอะ และนำเข้าน้อยลงจากราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี หรือมาจากอัตราเงินเฟ้อเราต่ำมาก คือของเราแพงขึ้นช้ากว่าต่างประเทศ ซึ่งในปี 2020 ก็ยังคงเป็นประเด็นเหล่านี้อยู่
และถ้ามองจากอีกด้าน ประเด็นสำคัญคือเราแทบไม่มีโอกาสในการลงทุนเลย จากทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างที่ว่าและแนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นที่ไม่ค่อยสดใสนัก ทำให้เรามีการสะสมเงินออม แต่ไม่รู้จะเอาไปลงทุนอะไรดี ก็เลยทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ ยิ่งทำให้บาทแข็งไปอีก ซึ่งสำหรับคนที่กังวลก็แนะนำให้เลือกลงทุนแบบที่มีการป้องกันความเสี่ยง
ประเด็นการเลือกตั้งในสหรัฐฯ
ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน จริงๆ ปีเลือกตั้งมีข้อดีคือรัฐบาลไม่อยากให้เศรษฐกิจ ชะลอ อาจจะทำให้ยืดระยะเวลาของวงจรเศรษฐกิจไปได้ระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เพิ่มความไม่แน่นอน ในแง่ที่ว่าเราไม่รู้ว่าใครจะมา ถ้าเรารู้ว่าประธานาธิบดี Donald Trump จะได้เป็นประธานาธิบดีต่อ ก็ยังพอเดาได้ว่ารูปแบบการสื่อสารกับประชาชน การดำเนินนโยบายก็จะเป็นแบบนี้ เราก็อาจจะคุ้นชินไปอีก 4 ปี ในทางกลับกันถ้าไม่ใช่ทรัมป์ เราก็ยังไม่รู้ว่าคนไหนจะมา และแคนดิเดตในพรรดเดโมแครตเองก็ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ Joe Biden ที่ค่อนข้างจะกลางๆ ไล่ไปถึงซ้ายสุดอย่าง Elizabeth Warren หรือ Bernie Sanders ซึ่งใช้นโยบายค่อนข้างซ้าย ซึ่งตลาดอาจจะไม่ค่อยชอบ เพราะกำลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่มและเอามาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งถ้าคนอื่นขึ้นมาตลาดก็จะคาดเดาลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่านโยบายไหนจะถูกนำขึ้นมาใช้บ้าง ก็เลยกลายเป็นว่าพอมาเป็นปีเลือกตั้งความไม่แน่นอนเลยจะเป็นประเด็นอยู่
Profile
ดร.พิพัฒน์ จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก University of California, Berkeley มีประสบการณ์ทำงานเป็น Economist ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นเวลา 4 ปี และเคยทำงานกับ Global Macro Hedge Fund ที่ Mellon Capital Management ที่เมือง San Francisco ก่อนจะย้ายกลับมาเมืองไทยและร่วมงานกับภัทร เริ่มต้นด้วยการเป็นนักวิเคราะห์กลุ่มสถาบันการเงิน และย้ายมาเป็น Co-head ของ CIO Office
สำหรับ CIO Office ทำหน้าที่ให้บริการเรื่องการลงทุนแก่ลูกค้า Wealth Management โดย 1) ให้มุมมองในการลงทุนโดยรวม ที่เป็น house view ของภัทร และ 2) แนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ก่อนที่จะส่งต่อให้ทีม Investment Solutions คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์มุมมองเหล่านี้และนำเสนอลูกค้าต่อไป
นอกจากบทบาทด้านการทำงานที่ภัทร ดร.พิพัฒน์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Global Fellow ของ Eisenhower Fellowships เมื่อปี 2018 แต่ละปีจะมีการคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ 25 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำในด้านต่างๆ ที่สนใจ
ประสบการณ์เข้าร่วมโครงการ Eisenhower Fellowship
Eisenhower Fellowships เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติกับประธานาธิบดี Eisenhower ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการสันติภาพ มีความเชื่อว่าการพูดคุยและการเข้าใจกันระหว่างประเทศจะทำให้เกิดสันติภาพในโลกได้ Fellowship นี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง จากทุกประเทศทั่วโลกให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วสหรัฐฯ และเพื่อเข้าพบบุคคลสำคัญๆ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้เพื่อพูดคุยในเรื่องที่ตนสนใจเพื่อเรียนรู้และจุดประกายความคิด นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เลือกคนจากฝั่งสหรัฐฯ อเมริกา เพื่อให้เดินทางไป 2-3 ประเทศใดก็ได้ในโลกเพื่อที่จะไปเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย
ในโครงการที่ผมไปคัดเลือกตัวแทน 25 คน จากทั่วโลกเพื่อเดินทางในสหรัฐอเมริกาประมาณ 7 สัปดาห์ ผมได้เดินทางไปทั้งหมด 12 เมือง ซึ่งนอกจากจะเพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นที่สนใจแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายจากการรู้จักกันให้สามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ และเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในโลกได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิด network ขึ้นทั้งระหว่างประเทศหรือในประเทศไทยเอง
สำหรับตัวผมเองตอนที่สมัครเข้าไปได้ตั้งจุดประสงค์ของการเดินทางไว้ 2 ข้อคือ หนึ่ง ผมมองว่าประเทศไทยไม่ค่อยมีการถกเถียงเชิงนโยบายเท่าที่ควร ก็เลยอยากไปรู้ว่าทำไมอเมริกาจึงทำได้ ถ้าเราดูจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ การถกเถียงเรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งถ้าหากนโยบายไม่คิดมาอย่างรอบคอบก็มีสิทธิแพ้เลือกตั้งได้ เช่น ถ้าบอกว่าจะทำนโยบายบางอย่าง อาจจะมีคนตั้งคำถาม ว่าแล้วจะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะเงินมีอยู่อย่างจำกัด การดำเนินนโยบายก็จะต้องมีข้อจำกัด การจะทำอะไรต้องมีการจัดอันดับความสำคัญ และสมมติอยากจะใช้อะไรมีทางเลือกแค่ 3 ทาง คือ 1) ตัดนโยบายอื่นทิ้ง 2) ขึ้นภาษีแปลว่าทุกคนต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น และ 3) ต้องกู้เพิ่มก็คือการผลักภาระไปให้คนรุ่นหลัง เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีต้นทุนแต่ในเมืองไทยไม่ค่อยมีการถกเถียงกันเรื่องพวกนี้ ผมจึงตั้งคำถามว่าเมืองไทยขาดอะไร ทำไมถึงเกิดการถกเถียงที่สร้างสรรค์อย่างนั้นที่อเมริกาได้
ส่วนจุดประสงค์ที่ 2 เราทำงานในภาคการเงิน จะเห็นว่ามีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆจำนวนมาก และมี fin tech ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดกระแส disruption ที่ทำให้ธุรกิจการเงินได้รับผลกระทบ ผมเลยอยากไปดูที่อเมริกาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และกลุ่มที่เป็นสถาบันการเงินเช่น bank, broker, asset management มองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร สถาบันการเงินเหล่านี้มอง fin tech เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง
ระหว่างที่เดินทางในสหรัฐฯ ก็ได้ไปเจอหลายๆคนที่น่าสนใจ พยายามที่จะขอไปเจอทั้งกลุ่มที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย, think tank, นักการเมือง, บริษัท fin tech, อาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อจะไปพูดคุย เพื่อให้เห็นมุมมองว่า จาก 2 ประเด็นนี้เราไปเรียนรู้อะไรจากเค้าได้บ้าง ซึ่งคนที่จะไปพบเกิดจากการที่ผู้สมัครออกแบบเอง ด้วยความที่ตัว Fellowships เองมีผู้สนับสนุนอยู่ค่อนข้างเยอะ ก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผมตั้งข้อสังเกตว่าสถาบันวิจัย หรือ think tank ที่อเมริกามีอยู่จำนวนมาก ทำหน้าที่วิเคราะห์และเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับผลของนโยบาย think tank เหล่านี้ มีแนวความคิดที่ไล่ตั้งแต่ซ้ายสุดไปจนขวาสุดของแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจ และที่น่าสนใจคือแหล่งที่มาของเงินทุนที่สำคัญของ think tank เหล่านี้มาจากเงินบริจาค ซึ่งมันเกิดจากผู้บริจาคมีว่าแนวความคิดที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “สินค้าสาธารณะ” ซึ่งเป็นคนที่เชื่อในแนวความคิดบางอย่างที่สอดคล้องกับ think tank นั้น ก็คงอยากให้มีงานวิจัยอะไรที่สนับสนุนแนวความคิดเหล่านั้น น่าจะช่วยผลักดันนโยบายพวกนี้ง่ายขึ้น
ย้อนกลับมาเมืองไทยก็มีการบริจาคกันเยอะมาก โดยเฉพาะให้กับวัดและโรงพยาบาล ตรงนี้ถ้าเราคิดดูดีๆ เราอาจมองว่ามันมีตลาดสำหรับเงินบริจาคเพื่อจัดหาสินค้าสาธารณะที่คนบริจาคอยากให้มี ซึ่งถ้าคนเชื่อว่างานวิจัยด้านนโยบายเป็นหนึ่งในสินค้าสาธารณะที่ควรมีเพิ่มขึ้น ก็ไปบริจาคหรือตั้งเป็น Endowment Fund เพื่อผลักดันงานวิจัย เพื่อให้คนทั่วไปจะได้รับรู้ เข้าใจและร่วมผลักดันแนวนโยบายแบบนั้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันวิจัยเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมี integrity ความน่าเชื่อถือเช่นว่ารับเงินบริจาคมาก็ต้องเปิดเผยว่าเอาไปทำอะไร หรือสร้างงานเสร็จแล้วก็ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ
อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ไปเจอคือกลุ่ม start-up fintech ต่างๆ ก็ได้พูดคุยกันในเรื่องของเหตุผลที่ fintech เกิดขึ้น และธนาคารหรือสถาบันการเงินมอง fintech ยังไง หรือมองเรื่องของการโปรโมต culture หรือ innovation ยังไง และได้เห็น model ทางธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจ