Money
สิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องรู้กับกองทุนรวม SSF และ RMF ตอน 1
Post by | Admin

เมื่อใกล้สิ้นปีเทศกาลลดหย่อนภาษีเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจพูดถึงเป็นอย่างมาก และในปีนี้มีการประกาศกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตัวใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 2563 นั่นคือ กองทุนรวม SSF (กองทุนรวมเพื่อการออม) ที่จะออกมาแทนกองทุนรวม LTF ตัวเก่า ซึ่งมีผลบังคับใช้สิ้นสุดในปี 2562 นี้ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์กองทุนรวม RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) แบบใหม่ รายละเอียดจะน่าสนใจอย่างไร และให้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีสรุปข้อมูลดังกล่าวมาฝาก ไปติดตามกันเลยค่ะ
กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund : SSF)
- วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี- บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกิน 30%ของรายได้พึงประเมิน และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท
- ไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อ และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง
- สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
- เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (กรณีปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ประกาศ)
สามารถหักค่าลดหย่อนซื้อหน่วยลงทุน SSF ได้ 5 ปี (2563 – 2567)

เรามาดูกันว่า การลงทุนโดยใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวม SSF ตัวใหม่นี้ ให้ประโยชน์อย่างไรกันบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีรายได้พึงประเมินรวมทั้งปีอยู่ที่ 1,333,333 บาท ไม่ว่าคุณจะลงทุนด้วยกองทุน LTF (15% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท) หรือ กองทุน SSF (30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท) คุณจะได้รับสิทธิค่าลดหย่อนเท่ากันที่ 200,000 บาท นั่นแปลว่า หากคุณมีรายได้พึงประเมินรวมตลอดทั้งปีน้อยกว่า 1,333,333 บาท กองทุน SSF จะช่วยให้คุณได้รับสิทธิค่าลดหย่อนมากขึ้นกว่าเดิม แต่หากคุณมีรายได้พึงประเมินรวมตลอดทั้งปีมากกว่า 1,333,333 บาท คุณจะได้รับสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษีที่น้อยลง
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)
- วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวมากขึ้น และเป็นแหล่งเงินออมเพื่อยามเกษียณ ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี- ปรับสัดส่วนการลดหย่อน จากเดิมไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท เช่นเดิม
- ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน จากเดิมไม่น้อยกว่า 3% ของรายได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า เป็นไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ
- เกณฑ์อื่นๆ ยังคงประกาศใช้ตามเดิม เช่น เกณฑ์การไม่ระงับซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกัน, สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท, ถือครองจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองอย่างน้อย 5 ปี, เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (กรณีปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ประกาศ)

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนเกณฑ์การลงทุนใน RMF ใหม่ จะช่วยให้ผู้มีรายได้ปานกลางหรือเริ่มต้นวัยทำงาน ได้รับประโยชน์เต็มที่เพราะไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อกองทุน และปรับสัดส่วนการลดหย่อนเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30% ของรายได้พึงประเมิน ซึ่งถือเป็นการจูงใจให้เริ่มต้นการออมระยะยาวที่เร็วขึ้น และเป็นแหล่งเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณที่สำคัญและสำหรับการลงทุนในกองทุนรวม LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นี้ ผู้ลงทุนยังสามารถซื้อหน่วยลงทุนใน LTF ได้ แม้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่ยังคงได้รับยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ
ดังนั้น ปี 2562 นี้ เป็นโค้งสุดท้ายสำหรับการลงทุนใน LTF ที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบเดิม จึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะลงทุนในครั้งนี้