Money
เส้นทางสู่เงินล้านอย่างมั่นคงด้วยกองทุนตลาดเงิน
Post by | Admin

องค์ประกอบที่สำคัญในพอร์ตการลงทุนทั่วไปที่จะเป็นตัวสร้างความมั่นคงให้กับเงินลงทุนคือการลงทุนประเภท Income Investment หรือการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เนื่องจากมีความแน่นอนมากกว่าการคาดหวังผลตอบแทนจากการปรับขึ้นของราคาตราสารเพียงอย่างเดียว และในบรรดา Income Investment ทั้งหมด กองทุนรวมตราสารตลาดเงิน (Money market fund) จัดได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีเสถียรภาพสูงที่สุด เนื่องจากมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเช่นตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรระยะสั้นของแบงก์ชาติ, เงินฝาก หรือตั๋วเงินของธนาคารและบริษัทเอกชน เป็นต้น โดยทางการกำหนดว่าอายุเฉลี่ยของตราสารในพอร์ตต้องไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งทำให้มูลค่าของหน่วยลงทุน (NAV) มีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตราสารระยะยาว นอกจากนั้นอายุของตราสารที่สั้นทำให้กองทุนตราสารตลาดเงินมีสภาพคล่องสูงและโดยทั่วไปสามารถคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยในวันทำการถัดจากวันที่ส่งคำสั่งขาย (T+1) ด้วยลักษณะดังกล่าวกองทุนตลาดเงินจึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนเงินฝากออมทรัพย์ แม้ตอนไถ่ถอนจะได้เงินช้ากว่าอยู่ 1 วัน แต่อัตราผลตอบแทนโดยทั่วไปจะสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนสำหรับนักลงทุนบุคคล
อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดที่ต้องรักษาอายุเฉลี่ยของตราสารที่ไม่เกิน 3 เดือน ทำให้ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มสำหรับกองทุนตลาดเงินมีค่อนข้างจำกัด ในระยะหลังเราจะเห็นได้ว่ามีกองทุนในลักษณะใหม่ออกมาซึ่งหลายคนเรียกว่า “พลัสฟันด์” (Plus fund) กองทุนประเภทนี้จดทะเบียนเป็นกองทุนตราสารหนี้ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ แต่มีเป้าหมายที่จะควบคุมความผันผวนของ NAV ไม่ให้สูงกว่ากองทุนตลาดเงินมากนัก และรองรับการไถ่ถอนแบบ T+1 ได้ แม้ว่า “พลัสฟันด์” จะไม่ได้รับการจัดประเภทอย่างเป็นทางการแต่กลับเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงมากในระยะหลังและถูกนำมาใช้แทนกองทุนตลาดเงินอย่างแพร่หลาย นอกจากความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ได้สร้างความได้เปรียบในการลงทุนอีกหลายประการเช่น 1) การกระจายไปลงทุนในต่างประเทศ (ซึ่งโดยทั่วไปมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน), 2) ความสามารถในการลดสัดส่วนตราสารสภาพคล่องสูงซึ่งปรกติให้ผลตอบแทนต่ำ โดยที่ยังสามารถรองรับการไถ่ถอนในปริมาณมากๆได้ และ 3) การเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประจำซึ่งให้ผลตอบแทนสูงขึ้นโดยไม่เพิ่มความผันผวนให้กับกองทุน นอกจากนั้นการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในกองทุนประเภทนี้ ก็ทำให้ค่าธรรมเนียมกองทุนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำซึ่งหมายความว่านักลงทุนจะได้ผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จากการประเมินของบล.ภัทร “พลัสฟันด์” ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเป็นอันดับต้นๆ สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่ากองทุนตลาดเงินได้ประมาณ 0.40% -0.50% ต่อปี ซึ่งนับว่าน่าสนใจในภาวะที่ดอกเบี้ยนโยบายบ้านเราตอนนี้อยู่ที่ 1.50% อย่างไรก็ตามไม่ใช่ “พลัสฟันด์” ทุกกองจะสามารถรักษาระดับความผันผวนได้ใกล้เคียงกับกองทุนตลาดเงิน นักลงทุนที่สนใจควรรับคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงินของท่านในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกกองทุนตลาดเงินหรือ “พลัสฟันด์” ที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละท่าน
แม้ว่าจะขยับมาลงทุนใน “พลัสฟันด์” ผลตอบแทนที่ได้รับก็ยังค่อนข้างต่ำกว่าในอดีตมากเนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่เกือบจะต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์และมีโอกาสที่จะอยู่ในระดับต่ำอย่างนี้ไปอีกพักใหญ่ การให้น้ำหนักการลงทุนในกองทุนตลาดเงินหรือ “พลัสฟันด์” ที่มากเกินไปอาจจะเป็นตัวฉุดผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ต ในคราวหน้าเราจะมาทำความรู้จักกับ Income Investment ที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ การลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นแต่ก็เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนมากขึ้นเช่นกัน