Investment KnowlEDGE

นับ 1 ให้ถึงล้าน : ลงทุนแบบ 360 องศา

  • 26 ก.ค. 65
  • 2,215
1toMillion_Set_Investment_Plan_628x443p

กลับมาพบกันอีกครั้งกับซีรีส์ทางการเงิน “นับ 1 ให้ถึงล้าน” ใน Ep.ที่ 4 ลงทุนแบบ 360 องศา Ep.นี้ ผมจะพูดถึงภาพรวมการลงทุนทั้งหมด หากคุณมีเงิน 1 ล้านบาทแล้วอยากลงทุน ควรวางแผนการลงทุนอย่างไรให้ครอบคลุมรอบด้าน มาติดตามกันครับ

ก่อนที่ผมจะสรุปภาพรวมการลงทุนให้เห็นภาพเข้าใจไม่ยาก คราวที่แล้วเราพูดกันถึง 3 สิ่งต้องรู้ก่อนลงทุน ซึ่งได้แก่ ผลตอบแทน ความเสี่ยง และเครื่องมือในการลงทุน ในครั้งนี้ผมขอพูดถึงอีกสิ่งหนึ่งที่คุณลืมไม่ได้หากอยากลงทุน นั่นก็คือ กลยุทธ์ในการลงทุนครับ เพราะการมีกลยุทธ์จะทำให้ 3 สิ่งที่คุณทราบไปก่อนหน้าเกิดประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากที่สุด ก็เหมือนกับเรือที่มีทิศทางเพราะมีหางเสือคอยกำกับนั่นเอง…

1toMillion_Set_Investment_Plan_PIC01

วันนี้ผมจะยกตัวอย่าง 4 กลยุทธ์ในการลงทุนที่เป็นที่นิยมใช้กัน ดังนี้ครับ

 

1. Asset Allocation คือ กลยุทธ์ลงทุนที่มุ่งเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อถัวเฉลี่ยความเสี่ยง โดยวางแผนเป็นกลยุทธ์แบบ SAA TAA และทำการ Rebalancing Port

 

2. Lump Sum คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบครั้งเดียวด้วยเงินก้อน ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

3. Dollar Cost Averaging (DCA) คือ กลยุทธ์ลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน โดยกำหนดความถี่และระยะเวลาในการลงทุน

 

4. Value Averaging (VA) คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบมุ่งเน้นมูลค่าสินทรัพย์ มีความใกล้เคียงกับ DCA ต่างกันตรงที่ไม่ได้ลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกงวด แต่อาจมีทั้งซื้อและขายสินทรัพย์เพื่อปรับมูลค่าพอร์ตลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย

 

ซึ่งในการลงทุน คุณสามารถใช้หลายกลยุทธ์ลงทุนร่วมกันได้ และที่สำคัญต้องไม่ลืมศึกษาข้อดีหรือข้อควรระวังในการใช้แต่ละกลยุทธ์ลงทุนด้วยนะครับ

 

กลับมาต่อกันที่ภาพรวมการลงทุนแบบ 360 องศาครับ จากตัวอย่างเดิม ชายคนหนึ่งได้รับมรดกจำนวน 1,000,000 บาท และอยากวางแผนการลงทุนในครอบคลุมรอบด้าน เขาจึงจัดสรรเงินลงทุนดังภาพ

1toMillion_Set_Investment_Plan_PIC02

เริ่มจากเก็บเงินออมสำรองฉุกเฉิน 240,000 บาท (คำนวณจากรายจ่ายที่จำเป็น คือ 40,000 บาท จำนวน 6 เดือน) นำไปดาวน์บ้านเพื่อครอบครัว จำนวน 200,000 บาท และหักเงินเดือนทุกเดือนเพื่อผ่อนชำระ (พิจารณาเรทอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและทำการรีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี) วางแผนซื้อประกันชีวิตจำนวน 160,000 บาท (คำนวณทุนประกันที่ 500,000 บาทให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตร สำหรับประกันสุขภาพ พิจารณาวงเงินสวัสดิการประกันกลุ่มที่ได้รับจากที่ทำงานให้ครอบคลุมของตนเอง ภรรยา และบุตร หากไม่เพียงพออาจพิจารณาทำเพิ่ม)

 

สำหรับเงินออมสำรองฉุกเฉินซึ่งจะถอนออกมาใช้ในยามจำเป็น และการทำประกันชีวิตซึ่งทยอยถอนออกมาเพื่อจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปี จะนำเงินส่วนนี้ไปฝากไว้กับบัญชีเงินฝากแบบ e-Saving ที่ให้ดอกเบี้ยสูงและสามารถถอนออกมาเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันได้ในทุกปี จะเห็นว่าจากเงินมรดก 1,000,000 บาท เขาจัดสรรเงินเพื่อส่วนของ Wealth Creation และ Wealth Protection ไปแล้วจำนวน 600,000 บาท เหลืออีก 400,000 บาท ลงทุนในส่วน Wealth Accumulation เพื่อเป้าหมายเก็บเงินการศึกษาบุตรและเป้าหมายเกษียณต่อครับ

1toMillion_Set_Investment_Plan_PIC03

ส่วนของการลงทุน Wealth Accumulation เขาแบ่งเงินลงทุนตั้งต้น 400,000 บาท ออกเป็น 2 ส่วนคือ เก็บเงินการศึกษาบุตร ใช้เงินลงทุนตั้งต้นที่ 100,000 บาท และออมเพิ่มปีละ 18,000 บาท เป็นระยะเวลา 12 ปี ลงทุนที่ผลตอบแทนคาดหวัง 3.5% (เขาไม่ได้เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงมากนัก เนื่องจากเงินการศึกษาบุตรถือเป็นสิ่งสำคัญ) เมื่อครบกำหนด เขาจะเก็บเงินได้จำนวน 413,942 บาท สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ส่วนที่ 2 คือ เก็บเงินเพื่อการเกษียณของตนเอง ใช้เงินลงทุนตั้งต้นที่ 300,000 บาท ออมเพื่อการลงทุน 10% ของเงินเดือน และออมเพิ่มทุกปีตามฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น (เงื่อนไข คือ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 50,000 บาท และเงินเดือนปรับขึ้นทุกปี ปีละ 5%) ระยะเวลาลงทุน 25 ปี คาดหวังผลตอบแทนที่ 5% ต่อปี เมื่อครบกำหนด เขาเก็บเงินได้จำนวน 6,095,439 บาท (คำนวณเงินเก็บออมของตนเองได้ด้วยวิธีนี้ คลิก)

 

แม้จะยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายเนื่องจากเป็นเงินก้อนจำนวนใหญ่ แต่เขาก็ยังวางแผนเก็บเงินก้อนนี้ต่อจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งมีทั้งส่วนเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบจากนายจ้าง อีกทั้งยังมีผลตอบแทนจากเงินทั้ง 2 ส่วน (อ่านถึงตรงนี้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่เคยเข้าไปดูผลตอบแทนจากการลงทุนเลย ต้องรีบเข้าไปดูเพื่อวางแผนแล้วนะครับ)

 

เงินอีกส่วนที่เขาสามารถวางแผนได้ เช่น อาจออมจากเงินโบนัสที่ได้รับทุกปี ไปลงทุนในกองทุนรวม SSF และ RMF เพื่อเป็นแหล่งเงินไว้ใช้ยามเกษียณและยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเมื่อรวมกันและคำนวณตัวเลขออกมา ผมว่าชายคนนี้อาจจะเก็บเงินเพื่อการเกษียณได้มากกว่าที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ก็ได้ครับ

 

สำหรับ 3 สิ่งต้องรู้ก่อนลงทุนและกลยุทธ์ในการลงทุน ชายคนนี้ทำแบบประเมินความเสี่ยงของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจและพิจาณาระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และเลือกลงทุนโดยคาดหวังผลตอบแทนในลักษณะเพิ่มมูลค่าเงิน (Capital Appreciation) เนื่องจากเขาคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นและมีระยะเวลาการลงทุนในช่วงหนึ่ง (12 ปี และ 25 ปี) เครื่องมือการลงทุนที่ใช้ คือ กองทุนรวม เนื่องจากมีมืออาชีพบริหารจัดการให้และเขาเองก็ไม่ค่อยมีเวลาในการติดตามข่าวสารมากนัก และ ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ผสมผสานกัน ได้แก่ Asset Allocation จัดพอร์ตการลงทุนกระจายในกองทุนรวมหลายประเภทตามผลตอบแทนคาดหวัง ใช้การลงทุนทั้งแบบ Lump Sum (ใส่เงินตั้งต้นในการลงทุนที่ 100,000 บาท และ 300,000 บาท) และ DCA (ลงทุนเพิ่มปีละ18,000 บาท)

 

จากทั้งหมดจะเห็นนะครับว่า การวางแผนการเงิน ไม่ได้มีแค่เรื่องการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการจัดการสภาพคล่อง การป้องกันความเสี่ยง ไปจนถึงการลงทุนต่อยอดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเงินต่างๆ ดังนั้น การวางแผนที่ชัดเจน ครอบคลุม มีกรอบระยะเวลา เมื่อนำมารวมกับการลงมือปฏิบัติจริง เป้าหมายทางการเงินที่คุณคาดหวังไว้ ก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมครับ

 

วันนี้ลองมาทำ To do list วางแผนการเงินกับเงิน 1,000,000 บาท ตามเป้าหมายการเงินของคุณกันดูนะครับ และในซีรีส์หน้า พลาดไม่ได้!! สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากวางแผนการจัดการภาษีด้วยตัวคุณเอง อย่าลืมติดตามกับ ซีรีส์ที่ 3 : รายได้หลักล้านกับการลดหย่อนภาษี แล้วพบกันครับ

To do list :

1. ลองตั้งเป้าหมายการลงทุนของคุณ โดยใช้เงินตั้งต้น 1,000,000 บาท (หรือปรับตามเหมาะสม)
2. ศึกษาแผนการลงทุนในข้อ 1 ถึงแนวทางความเป็นไปได้และความครอบคลุม
3. ศึกษาทำความเข้าใจ ผลตอบแทน ความเสี่ยง เครื่องมือลงทุน และกลยุทธ์ในการลงทุน
4. ทบทวนพอร์ตการลงทุน อย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี